Home > Value investment > เสี่ยงมาก – เสี่ยงน้อย

เสี่ยงมาก – เสี่ยงน้อย

มีเรื่องน่าตลกอย่างนึงในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ นั่นก็คือกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าแวลูอินเวสเตอร์มักจะบอกว่าการลงทุนโดยการดูกราฟนั้นเป็นเรื่องที่”เสี่ยงมาก”และอาจ”ขาดทุน”ได้มาก และบอกว่าการลงทุนโดยอาศัยพื้นฐานเป็นหลักนั้นเป็นแนวทางการลงทุนที่ปลอดภัยและให้ผลตอบแทนดีที่สุด ในขณะกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเทคนิคอลกลับบอกว่าการลงทุนแบบวีไอ เป็นการลงทุนที่เสี่ยงและอันตรายมาก เมื่อเทียบกับการลงทุนโดยอาศัยกราฟ

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? นักเทคนิคมักจะบอกว่าการลงทุนโดยอาศัยการดูพื้นฐานอย่างเดียว เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยง หากเราไม่รู้จักการ stop loss เพราะตลาดในระยะสั้นถึงกลางเป็นเรื่องของอารมณ์มากกว่าเหตุผล พร้อมกันนักเทคนิคเหล่านี้มักจะยกตัวอย่างการล่มสลายของ SET ในช่วงปี 40 และ ช่วง subprime มาประกอบ

ในขณะที่แวลูอินเวสเตอร์มักจะพูดว่า ในระยะยาวแล้ว ราคาหุ้นจะล้อไปกับผลประกอบการณ์เสมอ การลงทุนโดยอาศัยเทคนิคอล เป็นเรื่องของการเดาอารมณ์ตลาด ซึ่งแวลูอินเวสเตอร์ก็มักจะเชื่ออีกว่า การเดาอารมณ์ตลาดผ่านทางกราฟแท่งเทียน มักจะทำให้เราเดาผิด มากกว่าเดาถูก และในระยะยาวแล้วความมั่งคั่งของเราจะลดลงเรื่อยๆ ตามจำนวนการเดาที่ผิดและค่าคอมมิชชั่นที่เสียไปทีละน้อย

ในฐานะแวลูอินเวสเตอร์ ผมย่อมเห็นด้วยกับข้อความในย่อหน้าที่ผ่านมา ถึงแม้การเทรดแบบเทคนิคอลจะมีจะ stop loss ที่แน่นอน ทำให้โอกาสขาดทุนหนักๆ ในครั้งเดียวนั้นน้อย ( บนเงื่อนไขที่ว่าเราทำตามสัญญาณซื้อขายอย่างเคร่งครัด ) แต่ผมก็ยังมองว่าสัญญาณเทคนิคอลเป็นสัญญาณที่ไม่แน่นอน และความไม่แน่นอนนั่นก็คือความเสี่ยงที่เราจะขาดทุน แม้เราจะไม่ขาดหนักๆในครั้งเดียว แต่การขาดทุนบ่อยๆ และค่าคอมมิชชั่นจากการซื้อๆขายๆ ย่อมจะทำให้พอร์ตโฟลิโอของเราหดเล็กลงไปเรื่อยๆ ( อย่างไรก็ดี ผมไม่ได้จะสื่อว่าการซื้อขายตามสัญญาณเทคนิคจะทำให้เกิดการขาดทุนอย่างแน่นอน ผมเพียงแต่มองว่า โดยธรรมชาติของสัญญาณเทคนิคใดๆ ย่อมมี false signal ที่จะทำให้เราขาดทุน และผม feel uncomfortable ที่จะรับความเสี่ยงนั้น )

แต่เช่นเดียวกัน ผมก็เห็นด้วยกับความเห็นของนักเทคนิคที่มองว่า ในระยะสั้นถึงกลาง ตลาดเป็น voting machine มากกว่า weighting machine และกลยุทธ์ Buy and Hold ของแวลู อินเวสเตอร์ย่อมเป็นเรื่องที่เสี่ยงกับการขาดทุน

เนื่องจากผมไม่ใช่นักเทคนิค และความรู้ในทางเทคนิคของผมมีอยู่อย่างจำกัด ผมคงไม่วิพากษ์ว่า เราควรจะออกแบบระบบการเทรดอย่างไร หรือใช้ indicator ตัวไหนเพื่อจะลดความเสี่ยงจากการ false signal แต่ผมจะพูดถึงว่า เราควรจะทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงจากกลยุทธ์ Buy and Hold ในแบบ VI

การลดความเสี่ยงที่ดีที่สุดคือการที่เรามั่นใจว่ากิจการที่เราถือนั้นมีราคาต่ำกว่ามูลค่าจริงๆ เพราะในระยะยาวแล้วอย่างไรเสียกิจการที่แข็งแกร่ง และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ราคาและมูลค่าย่อมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆตามผลประกอบการ ไม่ว่าหุ้นจะผ่านวิกฤติในตลาดหลักทรัพย์มากี่รอบ ( ดูอย่างหุ้นปูนใหญ่ หรือ แบงค์ใหญ่บางแบงค์ ที่แม้จะผ่านวิกฤติหนักๆ อย่าง ต้มยำกุ้ง หรือ subprime มา ราคาในกระดานวันนี้ก็มากกว่าราคาเมื่อ IPO หลายเท่าตัว )

การลดความเสี่ยงที่ดีอย่างที่สองคือการกระจายการถือครองหุ้นหลายๆตัวในพอร์ตโฟลิโอ, แน่นอนว่าถึงแม้เราจะพยายามวิเคราะห์พื้นฐานกิจการมาอย่างยอดเยี่ยมแค่ไหน เราก็อาจจะพลาดไป buy กิจการที่ไม่แข็งแรงจริง / ไม่เติบโตจริง และก็ไป hold มันไว้จนมูลค่าและราคาของมันลดน้อยลงเรื่อยๆ

นี่คือความเจ็บปวดและบทเรียนที่แวลูอินเวสเตอร์เกือบทุกคนจะต้องได้เจอ และมันอาจจะหมายถึงความมั่งคั่งจำนวนมากของเราที่หายไป แต่หากเรากระจายการถือครองในหลายกิจการ และนี่เป็นเพียง 1-2 กิจการที่เราวิเคราะห์ผิด ผลตอบแทนโดยรวมของเราก็ยังจะเป็นบวกในปริมาณที่มากพอสมควรอยู่

ประการสุดท้ายคือเราอาจจะต้องถือเงินสดไว้บ้าง เพื่อรอจังหวะที่เหมาะสม จริงอยู่ที่การถือหุ้น 100% เป็นสูตร”เร่งความรวย”ในแบบฉบับของ VI แต่มันก็เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ความเสี่ยงแบบ VI เพิ่มขึ้นอย่างมากในยามที่ตลาดไม่ดี ในทางตรงข้ามแวลู อินเวสเตอร์ที่มีเงินสดไว้หวด “perfect pitch” ในยามที่ตลาดปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง หลังจากวิกฤตินั้นผ่านไป ผลตอบแทนของเขาจะกลับมา outperform ตลาด โดยที่เราไม่จำเป็นต้องคาดเดาตลาดได้อย่างแม่นยำว่าตลาดจะลงตอนไหน และจะลงไปถึง bottom ที่ตรงไหน

  1. July 18, 2011 at 6:49 am

    ขอบคุณครับ
    One Rule does not fill All.

  2. anthrasis
    July 18, 2011 at 10:17 am

    ขอบคุณครับ ตามอ่านตลอดเลยครับ

  3. mod
    July 18, 2011 at 10:23 am

    ขอแวะมาแจมหมอแป๊ะคับ

    ในมุมมองของคนใช้กราฟหาเงินกับตลาดหุ้นคนนึง ผมเคยทดสอบระบบสัญญาณต่างๆของกราฟเทคนิค ส่วนใหญ่แล้วในระยะยาวไม่ดีไปกว่าโยนเหรียญเท่าไหร่

    แต่ผมมองว่าเรื่องประเด็นของ accuracy ไม่ใช่จุดสำคัญครับ จุดสำคัญคือท้ายสุดแล้วกำไรมันกลบขาดทุนได้หรือปล่าวเท่านั้นเอง (ระบบต้องมี edge หรือ expectancy ในการเล่นที่เป็นบวก)

    มันเป็นเรื่องความเข้าใจผิดของคนเล่นกราฟ (และไม่เล่นกราฟ) ส่วนใหญ่ที่เชื่อว่ากำไรมาจากความแม่นยำ เพราะขนาดของ payoff ที่เกิดขึ้นเวลาได้กำไร-ขาดทุนนั้นสำคัญกว่ามาก เรื่องของ stop loss จึงเป็นสิ่งสำคัญของนักเทคนิคครับ มันมีไว้เพื่อช่วยไม่ให้เกิด drawdown หรือเงินหดลึกเกินไปจนกลับมายากนั่นเองครับ

    นอกจากนี้การควบคุมความเสี่ยงของนักเทคนิค จริงๆควรทำผ่าน money management และไม่ใช่ผ่านกราฟเพื่อให้เกิดความแม่นยำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งทำจะยิ่งอันตราย เป็นการ curve fit ตลาดในอดีต พอมาเล่นกับปัจจุบันก็พังเหมือนเดิม

    ส่วนเรื่องใครเสี่ยงกว่าใคร ผมว่าจริงๆแต่ละแนวทางมีวิธีการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเองอยู่แล้ว (แต่มักไม่ใช้กัน 55) และมันก็ขึ้นอยู่กับ preference ของแต่ละคนด้วย เช่นบางคนรับไม่ได้กับการที่ต้องขาดทุนกระปิดกระปอยบ่อยๆ แต่บางคนก็รับไม่ได้ที่ต้องเจอกับ drawdown โหดๆเหมือนกัน

    ประมาณนี้แหละครับ 😀

    • July 18, 2011 at 11:26 am

      ขอบคุณพี่มดครับ สำหรับความเห็นดีๆ 🙂

      ผมเห็นด้วยกับพี่เลยครับว่าหัวใจของนักเทคนิคอยู่ที่ money management มากกว่า accuracy ของระบบเทรด

      แต่ประเด็นที่ผมจะชี้ก็คือว่า นักเทคนิคหลายคนมักจะเข้าใจว่าการเทรดในระบบของตัวเองนั้นไม่เสี่ยง เพราะมีจุด stop loss ชัดเจน แต่ผมจะพูดว่าคุณก็เสี่ยงกับการเสียเงินน้อยๆ แต่บ่อยๆ อยู่ดีละ โดยเฉพาะในตลาด sideway ที่มีแต่ false signal เต็มไปหมด

      • T_0007
        February 2, 2013 at 6:39 am

        จริงด้วย เห็นด้วย ทั้งคุณมด และ หมอ แป๊ะ เลยครับ vi เน้น ความถูกต้อง แต่ต้องรอคอยได้ ต้องรู้ส่วนเทคนิค อาจจะไม่ถูกต้องบ่อยแต่เน้นเวลาได้ให้เยอะกว่าเสีย(trend follwer แบบคุณมด) ข้อมูลไม่เยอะ
        -มี จุดที่ต่างนิดนึง วิธีแรกบอกอย่าขาดทุน อีกวิธีบอกขาดทุนได้แต่น้อยๆ
        – เทคนิคบอกว่า ทุกอย่างสะท้อนหมดแล้ว รวมทั้งข่าวที่ช้าและความที่คนไม่รู้ แต่ vi บอกว่าความไม่รู้คือความเสี่ยง และราคาตามกําไร
        – อันนี้ ถามคุณมดดีกว่า เพราะ ผมเคยพบว่า ช่วงแรกๆ มันจะไม่แตกต่ากกันเท่า ไหร่ แต่จะต่างกันช่วงทบต้น ในระบบ ที่มีความถูกต้อง ประมาณ50% การทบต้นไปเรื่อยๆ จะทําให้การเสียครั้งหลังมากกว่าครั้งแรก แม้ว่าจะเผื่อเงินไว้แก้ แต่ก็จะทําให้ ไม่สามารถ ลงได้ 100% ทั้งคุณมด กับ หมอแป๊ะ มีมุมมองเรื่องการทบต้นอย่างไรบ้างครับ

        อิอิ แอบเห็นหมอแป๊ะใช้หลักการแบ่งขายตามหลักการเทคนิคเพื่อดักความโลภของคนเหมือนกันในบทความ ขายแบบ foundamentalist1 เยี่ยมมากเลยครับ จะจดจําไว้ใช้ ต้องขอขอบคุณที่เขียนบทความดีๆให้อ่านครับ ทั้งคู่เลยครับ

  4. July 18, 2011 at 11:29 am

    แต่หลักๆเลย ผมเขียนในมุมของ VI มากกว่า 🙂

    ผมอยากจะเตือน VI หลายๆคนด้วย โดยเฉพาะมือใหม่ที่เข้าใจว่าการลงทุนแบบ VI นั้น”ไม่มีความเสี่ยง” ว่าความเสี่ยงในแบบของ VI นั้นเป็นแบบไหน และจะลดมันไปได้อย่างไร

    • 333
      July 23, 2011 at 4:42 am

      จริงๆถ้าซื้อหุ้นที่เข้าใจง่ายๆ เช่น กลุ่มค้าปลีก และซื้อในราคาที่มี mos แม้ผลกำไรจะไม่เร็วเหมือนกลุ่มอื่นแต่ก็ไม่ต้องลุ้นหนักเพราะหุ้นหลายๆตัว ค่าใช้จ่ายที่เจ้าของ ผู้บริหารใส่เข้ามาเราไม่รู้ว่าเขาจะใส่มาตอนไหน ถ้าตอนนี้เจ้าของยังไม่อยากให้หุ้นขึ้น ก็จะมีค่าใช้จ่ายโผล่มาให้กำไรยังไม่เยอะ แม้ว่าจริงๆกำไรควรจะเยอะ นอกจากเรามั่นใจและรอได้ หุ้นที่เราจะถือยาวๆจึงควรเป็นกลุ่มที่กำไรมองออกง่ายๆ แต่ถ้ากลุ่มที่ดูยากควรจะซื้อแบบถูกมากๆ ตอนที่คนยังไม่สนใจ เพราะเดี๋ยวจะอยู่บนดอยสำคัญที่สุดเราควรจะมีจุดคัดลอส ปีที่ผ่านมาหุ้นหลายตัวเจ้าของ cash out จนโดนรายใหญ่แบล็กลิสต์ ราคาหุ้นไหลลงเรื่อยๆ แต่รายย่อยยังฝันว่าเดี๋ยวหุ้นจะกลับมาซึ่งอาจจะปี สองปี แล้วแต่ความปราณีของเจ้าของ สรุปแล้วรายย่อยมีความเสี่ยงมากจริงๆครับ

  5. mod
    July 18, 2011 at 12:25 pm

    ผมเห็นด้วยนะ คนส่วนใหญ่ชอบมองข้ามความเสี่ยงไปโดยรุ้เท่าไม่ถึงการ

    ในแง่ของนักเทคนิค ควรต้องนึกอยู่เสมอว่าเราอยู่กับความน่าจะเป็นตลอด แต่กลับไม่ค่อยมีคนยอมรับได้จริงๆเท่าไหร่ ส่วนของชาวพื้นฐาน สำหรับผมเองคำว่าไม่ขายไม่ขาดทุน หรือความคิดที่ว่ายังไงหุ้นก็ต้องวิ่งขึ้นไปใหม่เพียงอย่างเดียวนั้น เป็นการคิดแบบไม่เปิดทางหนีหรือเผื่อที่สำหรับความผิดพลาดให้ตัวเองเลย

    สิ่งเหล่านี้มักนำไปสู่การ bet ที่หนักเกินไป + Ego ที่จะผูกติดกับสิ่งที่เราคิดมากไป จนตัวเราเองกลายเป็นศํตรูที่อันตรายที่สุดไปแทน

    พูดๆไปพูดมานึกถึงประโยคปีเตอร์ ลินช์ ที่บอกว่าหุ้นโตเร็วสัก 10 ตัวในพอร์ท ถูกสักตัวก็ตั้งตัวได้แล้ว ถ้าวิเคราะห์ลงไปจะเห็นว่า lynch เองก็มองเกมแบบความน่าจะเป็น และคำนึงถึง expectancy อยู่เหมือนกันแม้เขาจะไม่ได้บอก

    จริงๆแล้วส่วนตัวผมว่าบางทีวิธีการมองหุ้นของแต่ละสายแต่ละคน มันอาจเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา เป็นเพียงทฤษฏีจากความเชื่อของแต่ละคนก็ได้ แต่เนื้อในที่ต้องมีและจำเป็นมากๆเหมือนกัน ก็คือเรื่องของการจัดการกับความเสี่ยงและโอกาสอย่างเหมาะสมเนี่ยแหละครับ 😀

    • Unsign
      July 18, 2011 at 6:20 pm

      เห็นด้วยครับ ขอบคุณครับ 🙂

    • Picatos
      July 21, 2011 at 12:14 am

      ผมว่า VI จัดการกับความน่าจะเป็นผ่านทาง MOS

      แต่ปัญหาคือเวลาหุ้นมันขึ้นจนไม่เหลือ MOS หรือ MOS มองได้ไม่ชัดเจน VI โดยเฉพาะจุดที่ราคาหุ้นมีแต่ Upside แต่ไม่มี MOS VI มักจะไม่รู้วิธีในการบริหารความเสี่ยงของพอร์ทในเวลาแบบนั้น ที่จุดนี้เป็น Grey Area บางคนเลือกที่จะขายเวลาราคาถึงเป้าหมาย เลยทำให้เกิดการขายหมู หรือเสียโอกาสต่างๆ ไปมากมาย บางคนเลือกที่จะ Switch หุ้นที่ Upside น้อยไป Upside มาก หรือหุ้นที่ไม่มี MOS ไปหุ้นที่มี MOS ซึ่งบางทีก็เสียโอกาสต่างๆ ไปมากมายได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วผมว่าที่จุดแถวๆ นี้ การเอา Technical หรือเอา Money Management มาใช้ประกอบการลงทุนได้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก

  6. CHOOKY
    July 18, 2011 at 11:58 pm

    ขอบคุณครับ จะรออ่านต่อไปนะ

  7. July 19, 2011 at 3:42 pm

    เห็นด้วยทุกประการ

  8. oyoyo
    July 22, 2011 at 4:23 am

    เห็นด้วยครับ โดยเฉพาะย่อหน้าสุดท้ายเป็นวิธีที่ใช้อยู่เลยครับ ^^

  9. ake3004
    July 26, 2011 at 10:12 am

    sud yod kab P Mod & K. Reiter ^^

  10. March 2, 2012 at 7:33 am

    เห็นด้วยครับ ขอบคุณครับ ขออนุญาติเเชร์นะครับผม

    • March 3, 2012 at 11:39 pm

      ยินดีครับ 🙂

  1. No trackbacks yet.

Leave a reply to REITER Cancel reply