Archive

Archive for June, 2011

กับดักของ financial ratio : บทเรียนจากหุ้นโรงไฟฟ้า

June 21, 2011 12 comments

VI มือใหม่จำนวนมากมักจะคัดเลือกและตัดสินใจลงทุนกับกิจการใดกิจการหนึ่ง โดยอาศัยการดูอัตราส่วนทางการเงินเป็นหลัก โดยพวกเขาอาจจะคิดว่าหุ้นที่มี PE ต่ำๆ PB ไม่ถึงหนึ่ง Dividend yield มากกว่า 5% เป็นหุ้นที่มี”ราคา”ต่ำกว่า”มูลค่า” และนี่คือหุ้น”แวลู”ที่สมควรลงทุน

การพิจารณาสกรีนหากิจการที่น่าสนใจโดยการอาศัย financial ratio เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีวิธีหนึ่ง, แต่อย่างไรก็ดี การใช้ financial ratio นั้น เหมาะสมเพียงเพื่อจะเป็นการสกรีนหาหุ้นให้เราสนใจเอาไปศึกษาในเชิงคุณภาพต่อ การใช้ financial ratio เพียงอย่างเดียวในการตัดสินใจที่จะซื้อหุ้น เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก เพราะอัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้ เป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงเหตุการณ์ในอดีต แต่ไม่ได้บอกว่าเราเลยว่า หลังจากที่เราเข้าซื้อกิจการไปแล้ว บริษัทจะกำไรมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร เราอาจจะซื้อหุ้นที่มี PE, PB ต่ำๆ แต่เราไม่ทันศึกษาว่าหลังจากนั้นผลประกอบการณ์ของบริษัทจะตกต่ำลงเรื่อยๆ และทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลงตาม จนเราขาดทุนได้มาก

ผมจะลองยกตัวอย่างหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ามาเปรียบเทียบให้เป็นกรณีศึกษา

ถ้าเราลองมาดูอัตราส่วนทางการเงินของหุ้นโรงไฟฟ้าสามโรงในตลาด ( ใช้ข้อมูล ณ 20 / 6 / 54 )

EGCO PE 7.88 PB 0.84 Div 5.9%
GLOW PE 14.56 PB 2.1 Div 3.9%
RATCH PE 12.35 PB 1.31 Div 5.3%

ถ้าเราใช้แต่อัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้ในการพิจารณาซื้อขายหุ้น เราก็จะบอกว่า EGCO เป็นหุ้นที่น่าลงทุนที่สุด เพราะ PE ต่ำ Div สูงเกือบ 6% และราคายังอยู่ต่ำกว่า book value ในขณะที่ GLOW นั้นเป็นหุ้นที่ไม่น่าลงทุนเอาเสียเลย

แต่ก็อย่างที่ผมบอกไว้ตั้งแต่แรกว่า อัตราส่วนทางการเงินเป็นเรื่องของความสามารถในการทำกำไรในอดีต แต่ผลประกอบการในอนาคตต่างหากที่จะเป็นตัวกำหนดราคาของหุ้น

ถ้าเราดูแต่ Financial ratio แล้วตัดสินใจซื้อ EGCO, สิ่งที่จะตามมาก็คือเรากำลังจะเผชิญกับการลดลงของผลกำไรในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเนื่องจากโรงไฟฟ้าที่เป็นรายได้หลักเกินกว่าครึ่งของบริษัทอันได้แก่ โรงไฟฟ้าระยอง ( 1,232 MW ) จะหมดสัญญาในปี 2558 และโรงไฟฟ้าขนอม ( 800 MW ) จะหมดสัญญาในปี 2559

ซึ่งถ้าทาง EGAT ( การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ) ไม่ต่อสัญญาให้กับทาง EGCO ก็เป็นที่แน่นอนว่า ผลกำไรของ EGCO จะหายไปเกินกว่าครึ่ง และราคาที่เราเห็นจากอัตราส่วนทางการเงินว่า”ถูก”ในวันนี้ หลังจากปี 58 เป็นต้นไปอาจจะกลายเป็น”แพงมาก” และทำให้ราคาปรับลดลงอย่างรุนแรง

หรือแม้แต่ถ้า EGAT ต่อสัญญาให้ แน่นอนว่า ค่าไฟที่ EGAT จะจ่ายให้กับ EGCO ก็ต้องต่ำลงกว่าในปัจจุบัน ทำให้ผลกำไรของ EGCO ต้องลดต่ำลงอยู่ดี ( ร่วมกับ EGCO จะยังไม่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามานอกจาก SPP ขนาดเล็ก ( 375 MW ) ในปี 58 )

ตรงกันข้ามกับ GLOW ที่ในช่วงอีกปีสองปีต่อจากนี้จะมีกำลังการผลิตเข้ามาใหม่ถึง 1176 MW ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มถึง 63% ของกำลังการผลิตเดิม ซึ่งถ้าคิดแบบง่ายๆเลยว่า กำลังการผลิตเพิ่ม 63% ผลกำไรก็น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยๆ 63% แต่ถ้าคำนวณแบบละเอียดจริงๆ จะพบว่า ผลกำไรของ GLOW จะเพิ่มมากกว่านั้น เนื่องจากโรงไฟฟ้าใหม่ที่เข้ามา สามารถผลิตไฟได้มีประสิทธิภาพมากกว่าและใช้ต้นทุนเชื้อเพลิงน้อยกว่าโรงเก่า รวมทั้งลักษณะสัญญาขายไฟที่ช่วงแรกจะขายได้ราคาต่อหน่วยมากกว่าช่วงท้ายของสัญญา

ในปี 2013 -2014 เมื่อโรงไฟฟ้าใหม่เดินเครื่องเต็มที่แล้ว, GLOW น่าจะมีกำไรแตะถึงหลักหมื่นล้าน ( คิด EPS ประมาณ 7 บาท ) ซึ่งทำให้ PE ในตอนนั้นลดลงเหลือไม่ถึง 7 เปรียบเทียบกับ PE 14.5 ที่ดูเหมือนว่าจะ”แพง”จนไม่น่า”ลงทุน”ในเวลานี้

สำหรับ RATCH นั้น ถูกเทรดที่อัตราส่วนทางการเงินที่อยู่ระหว่าง GLOW กับ EGCO ซึ่งก็สมเหตุสมผล ที่ RATCH จะถูกเทรดอยู่ตรงกลางระหว่างอีกสองเจ้า เพราะ RATCH ไม่ได้มีโปรเจคในมือที่จะเพิ่มผลกำไรในอนาคตชนิดที่ชัดเจนแบบ GLOW ( RATCH มีการลงทุนใหม่ๆ แต่ก็ยังเป็นที่น่าสงสัยว่าผลตอบแทนจะคุ้มค่ากับต้นทุนทางการเงินหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหุ้นของ EDL GEN หรือการซื้อกองทุนสาธารณูปโภคที่ออสเตรเลีย ) แต่โรงไฟฟ้าหลักของ RATCH ก็ไม่ได้ใกล้จะหมดอายุสัมปทานแบบ EGCO ( อย่างน้อยผถห.ก็สบายใจได้ว่า แม้การลงทุนใหม่ๆจะได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า อย่างน้อยผลกำไรจากโรงเก่า ก็จะไม่น้อยลงไปกว่าเดิม )

Money Talk : หมอไรเตอร์

June 6, 2011 1 comment

รายการมันนี่ทอล์คที่สัมภาษณ์ผมครับ

ตามลิงค์ข้างล่างนี่เลย

http://blip.tv/sorawut/money-talk-%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99-5228943

บรรยากาศค่อนข้างฮาเฮครับ เพราะผมสนิทกับอ.ไพบูลย์ 🙂

หาหุ้นแบบ fundamentalist

June 4, 2011 13 comments

ผมเป็นนักลงทุนแนวพื้นฐานคนหนึ่งที่นิยมลงทุนกับ good stock ในราคาที่ undervalue มากๆ มากกว่า great stock ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไปนัก

ข้อดีของการลงทุนในวิธีนี้ คืออาจจะเหมาะกับตลาดทุนที่คุณภาพของกิจการในตลาดไม่ได้”ดีเลิศ”แบบประเทศไทย และ”ความถูก”ของหุ้นก็เป็นตัวป้องกัน downside ในระยะสั้นถึงกลางได้ดีในระดับหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ดี การลงทุนใน good stock ที่มีส่วนลดมากๆ ก็มีข้อเสียประการสำคัญก็คือ บริษัทที่มีคุณสมบัติแบบที่ว่านี้ มักจะเป็นบริษัทที่เราไม่สามารถือหุ้นไว้ได้ตลอดกาล เพราะโดยตัวคุณภาพก็เป็นเพียงกิจการที่”ดี” ไม่ใช่”ดีเลิศ” ที่จะมีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน หรือจะมีการเติบโตเยอะๆ ไปอีกเป็นสิบปี

ดังนั้นเมื่อเราถือหุ้นมาได้ระยะหนึ่ง และราคาในกระดาน”สะท้อนมูลค่า”ไปเรียบร้อยแล้ว เราก็มักที่จะจำเป็นต้องขายหุ้นตัวนั้นออกมาเสีย

ผมย้อนไปดู portfolio ของตัวเองในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมพอร์ตของผม มักจะมี “big move” โดยเฉลี่ยทุกๆ ประมาณ 3 -6 เดือน นั่นก็คงเป็นเพราะ good stock ที่ผมถือ”สะท้อนมูลค่า” จนไม่มีส่วนลดเหลือแล้วนั่นเอง

หลายคนมักจะถามผมว่า แล้วผมหา good stock ตัวใหม่ๆ มาลงทุนเป็นระยะๆ ได้อย่างไร ผมก็มักจะตอบว่าโดยวิถีชีวิตของการเป็น fundamentalist ของผมนั้นเอื้ออำนวยต่อการทำความรู้จักกิจการใหม่ๆอยู่แล้ว

ประการแรกเลยก็คือผมมีสังคมเพื่อนนักลงทุนค่อนข้างเยอะ ซึ่งผมก็มักจะมีกิจกรรมการพบปะ กินข้าวกับเพื่อนนักลงทุนอยู่บ่อยๆ เฉลี่ยประมาณเดือนละ 2 -3 ครั้ง ซึ่งการพบปะกันแต่ละครั้ง นอกจากเราจะคุยกันเรื่องสารทุกข์สุขดิบ เหตุการณ์บ้านเมืองทั่วไปแล้ว เราก็มักจะคุยกันเรื่องการลงทุน กิจการที่เราถืออยู่ กิจการใหม่ๆที่น่าสนใจ หรือข่าวคราวบางอย่างที่จะทำให้บริษัทที่อยู่ในความสนใจของเรามีผลการดำเนินงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งการพบปะกันแต่ละครั้ง ผมก็มักจะได้ไอเดียเกี่ยวกับกิจการที่ผมไม่เคยรู้จัก ทำให้ผมได้ไอเดียใหม่ๆ มาศึกษาเองต่อ

นอกจากผมก็ยังมี online social network กับเพื่อนนักลงทุนอีกหลายๆ กลุ่ม ที่บางครั้งเราอาจได้พบปะกันแค่ปีละครั้งสองครั้ง แต่เทคโนโลยีก็ทำให้เราใกล้กัน จนบางครั้งผมก็รู้สึกว่า ผมใกล้ชิดกับเพื่อนนักลงทุนกลุ่มนี้ ไม่ต่างอะไรไปจากกลุ่มที่ผมพบปะเป็นประจำ

ประการที่สอง ผมมักที่จะใช้เวลาว่างไปกับการดู opportunity day, เวลาผมไม่มีอะไรทำ ผมมักจะเปิดไฟล์ opp day ของกิจการที่ผมไม่รู้จักมาดู ผมมีความเห็นว่าการฟัง opp day เป็นทางลัดที่ง่ายที่สุด ที่เราจะเข้าใจความเป็นไปของกิจการต่างๆ เพราะใน opp day คนที่มาพูดเกี่ยวกับกิจการนั้นๆ ให้เราฟัง ก็คือคนที่ดูแลบริหารกิจการนั้น”มากับมือ”

หลายคนอาจจะบอกว่า การฟัง opp day ต้องใช้เวลามาก และหลายกิจการเวลาฟังแล้วก็ไม่รู้สึกว่าน่าสนใจ ทำให้เสียเวลาฟังไปฟรีๆ แต่ผมมองว่า ถ้าเราคิดว่าการลงทุนก็เป็นอีกอาชีพของเรา ทำไมเราที่ยอมเสียเวลาวันละ 8 ชม. ให้กับงานอาชีพประจำ จะเจียดเวลาวันละ 1 -2 ชม.ให้กับ”อาชีพ”นักลงทุนไม่ได้ และการฟัง opp day ของบริษัทที่สุดท้ายเราไม่ได้ลงทุนด้วย ก็ไม่ใช่การ ”เสียเวลาเปล่า” แต่หากเป็นการที่เราได้มีโอกาสศึกษาธุรกิจที่เราไม่เคยรู้ อุตสาหกรรมที่เราอาจจะไม่เคยรู้จัก และที่สำคัญแม้เราจะไม่ได้ลงทุนกับกิจการนั้น ในวันนี้ แต่หากวันหน้า พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เราก็คงจะไม่ต้องเสียเวลาศึกษากิจการตั้งแต่ศูนย์ใหม่

ประการต่อมา ผมชอบอ่านเวบไทยวีไอ, ใครจะโจมตีจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ผมเชื่อว่าฐานข้อมูลของเวบนี้ เป็นฐานข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการลงทุนแนวพื้นฐานมากที่สุดในประเทศไทยแล้ว เมื่อผมมีเวลาว่าง ผมชอบเปิดห้องร้อยคนร้อยหุ้นมาไล่ดูห้องต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ ผมจะไล่อ่านย้อนหลังไปจากหน้าสุดท้ายประมาณ 7 -8 หน้า บ่อยครั้งที่ผมพบ”ไอเดียหลัก”ของการลงทุนในกิจการนั้นๆ จากการอ่านห้องร้อยคนร้อยหุ้นกลับไปไม่กี่หน้า ทำให้ผมไปศึกษากิจการนั้นต่อในเชิงลึกโดยสะดวกและง่ายขึ้นมาก

ประการสุดท้าย เมื่อผมหาหุ้นมาลงทุนไม่ได้จริงๆ และผมพบว่าเงินสดในพอร์ตมีปริมาณมากในระดับที่ผมไม่สบายใจ ผมจะไปเปิดเวบ settrade เพื่อสกรีนหุ้นเป็นรายอุตสาหกรรม โดยผมจะเปิดเวบทีละ sector แล้วให้เวบเรียงหุ้นจาก pe ต่ำสุดไปยัง pe สูงสุด แล้วผมก็จะเลือกหุ้นที่ pe ต่ำสุด 4- 5 อันดับแรก มาศึกษาโดยละเอียดต่อ ว่าทำไมหุ้นมันถุงเทรดกันที่พีอีเพียงเท่านี้ มีรายการพิเศษอะไรซ่อนอยู่หรือไม่ และมีแนวโน้มที่ตลาดจะปลดล็อคความถูกหรือเปล่า