ลงทุนในหุ้นเติบโต (1)

June 29, 2014 6 comments

สไตล์การลงทุนของผมในช่วงสามปีที่ผ่านมาเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก เนื่องจากเหตุผลส่วนตัวที่ผมไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาทำให้ไม่มีเวลาติดตามข่าวสารหรือข้อมูลการลงทุนอย่างใกล้ชิด

เดิมทีนั้นผมเป็นนักลงทุนในสไตล์ที่ค่อนข้างจะ”บู๊” กล่าวคือผมนิยมซื้อหุ้นคุณภาพปานกลางในราคาที่ undervalue มาก และขายออกไปเมื่อราคาขึ้นมาถึงจุดที่ผมคิดว่า fair (ผมชอบเรียกการลงทุนในแนวนี้ว่าเป็นการลงทุนแบบ bargain hunter – ดูบทความเก่าประกอบได้ครับ)

ว่ากันตามจริง การลงทุนในสไตล์นี้ให้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควรกับผม แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการใช้เวลาไปกับการศึกษาและค้นหาข้อมูล รวมถึงต้องมีเวลามากพอสมควรในการติดตาม”ราคา”ของหุ้น เพราะการลงทุนในแนว ผมมักจะถือหุ้นแค่หลักเดือน หรือหลักไตรมาส ก่อนที่จะทำการซื้อขายหรือปรับเปลี่ยนพอร์ต

ดังที่ผมกล่าวมาในข้างต้น ผมจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการลงทุน เพราะผมจำเป็นต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการศึกษา รวมทั้งการต้องไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองนั้นก็จะยิ่งทำให้ผมเข้าถึงข้อมูลได้ลำบากมากขึ้น

ผมพยายามออกแบบพอร์ตการลงทุนอยู่หลายรูปแบบ จนสุดท้ายผมก็ตัดสินใจมาเลือกรูปแบบการลงทุนในหุ้นเติบโต ทั้งนี้ผมเคยมีความคิดว่าการลงทุนในหุ้นเติบโตเป็นเรื่องที่เสี่ยง เพราะตลาดมักให้พีอีกับหุ้นเหล่านี้สูงลิ่ว หากบริษัทไม่เติบโตจริงอย่างที่ตลาดคาดหวัง เราก็มีโอกาสจะขาดทุนได้หนักๆ

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ผมศึกษาแนวทางการลงทุนในหุ้นเติบโตอย่างจริงจัง ผมก็ค้นพบว่าผมนั้นไปยึดติดกับอัตราส่วนทางการเงินมากไป เพราะว่ากันตามเชิงคุณภาพนั้น มีบริษัทมากมายในตลาดที่ผมมั่นใจในระดับค่อนข้างมากถึงมากว่าบริษัทจะเติบโตในระดับ 10-20% ต่อปีได้อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายๆปีข้างหน้า ที่สำคัญปัจจัยเชิงคุณภาพเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากซับซ้อนที่จะเข้าใจ เพราะบริษัทเหล่านี้มักจะเป็นบริษัทสามัญประจำบ้าน ที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวัน โอกาสที่บริษัทจะไม่เติบโตอย่างที่เราคิด อยู่ในขั้นน้อยถึงน้อยมาก

อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ผมเคยเมินการลงทุนในแนวนี้คือเรื่องของผลตอบแทน ผมเคยคิดว่าการลงทุนในหุ้นเติบโตน่าจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าการลงทุนในแบบ bargain hunter, ประเด็นนี้ผมคิดว่าอาจจะเป็นเรื่องที่จริงในยุคที่ตลาดยังอยู่ที่ 400-500 จุด เพราะตอนนั้นเรามีหุ้น PE 4-5 มากมาย ที่รอตลาดจะปรับ PE ให้เมื่อมี catalyst ที่เหมาะสมเข้ามา ดังนั้นการลงทุนแบบการไล่ล่าส่วนลดก็อาจจะให้ผลตอบแทนที่หวือหวาและทันใจกว่า แต่กลับกันในยามที่ SET ขึ้นมาถึง 1400-1500 จุดแบบตลาดตอนนี้ การจะหาหุ้นที่มีส่วนลดมากๆ เพื่อหาผลตอบแทนแบบหวือหวาทันใจก็คงจะทำได้ลำบากขึ้น สิ่งที่เราจะได้จากการพยายามลงทุนแบบ bargain hunter นั้นน่าจะเป็นการที่เราได้หุ้น grade B ในราคาที่ค่อนข้าง fair แล้ว ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวเพราะด้วยตัวคุณภาพของธุรกิจที่ไม่ได้แข็งแกร่ง หากมีปัจจัยลบทางเศรษฐกิจเข้ามากระทบ กำไรของบริษัทรวมทั้งราคาหุ้นน่าจะลดลงได้มากๆ

ผมเป็นแฟนของ Peter Lynch และ ลินช์ก็เป็นคนนิยมหุ้นเติบโต ผมงานของลินช์ก็บ่งบอกได้ดีว่า หุ้นเติบโตสร้างผลกำไรทบต้นได้มากขนาดไหน แต่เมื่อก่อนผมคิดว่าการลงทุนในแบบของลินช์คงไม่สามารถ apply กับตลาดไทยที่คุณภาพของบ.จดทะเบียนต่ำกว่า ผมเชื่ออย่างนั้นอยู่หลายปีจนเห็นการเติบโตของพอร์ตการลงทุนของอ.นิเวศน์ ที่ท่านลงทุนกับหุ้นเติบโต (และแข็งแกร่งมาก) เป็นหลักทำให้ รวมถึงการที่ผมมองย้อนกลับไปดูหุ้นเติบโตหลายตัวที่ผมเคยเมินและผมพบว่าราคามันขึ้นมาจากวันที่ผมเคยเมินหลายร้อยเปอร์เซนต์ ทำให้ผมเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆว่า การลงทุนแบบนี้ทำได้จริงในบ้านเรา

ผมอาจจะต้องปรับเปลี่ยนสไตล์ของลินช์เล็กน้อยเพราะลินช์เน้นแต่การเติบโตเป็นหลัก หลายบริษัทที่ลินช์ลงทุนเป็นบริษัทเกิดใหม่ที่ยังเติบโตได้อีกมาก แต่ผมขอเน้นเพิ่มว่าผมขอลงทุนบริษัทที่เติบโตมาแล้วในระดับพอสมควร, เป็นเจ้าตลาด, มี dca แข็งแกร่ง แต่ผมยังเห็นว่าบริษัทยังมี room ที่จะเติบโตได้อีก จะด้วย megatrend ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือด้วยอะไรก็แล้วแต่ (จะว่าไปก็คือแนวทางที่อ.นิเวศน์ท่านใช้ และพยายามพร่ำสอนมาหลายปีแล้วนี่เอง)

ตอนต่อไปผมจะมาต่อว่าด้วย criteria ที่ใช้กรอง ผมลงทุนกับหุ้นอะไรไปบ้าง และผลตอบแทนออกมาเป็นเช่นไร

Categories: Value investment

การวิ่งกับการลงทุนแบบ VI

February 16, 2014 Leave a comment

ผมเริ่มวิ่งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ประมาณหกเดือนก่อน หลังจากความพยายามจะออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องล้มเหลวติดกันมาหลายรอบ ผมเพิ่งจะสังเกตได้ว่าการอดทนวิ่ง (หรือการออกกำลังกายชนิดอื่นๆ) นั้นคล้ายกับการลงทุนอย่างมุ่งเน้นคุณค่าอยู่หลายประการ

ประการแรกเลยคือการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอนั้นเป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติของมนุษย์ที่รักสบาย และไม่อดทนเพียงพอต่อการกระทำที่จะส่งผลดีในระยะยาว ทุกคนทราบดีว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยป้องกันโรคเรื้อรังและทำให้อายุขัยโดยเฉลี่ยยาวขึ้น แต่คนที่สามารถออกกำลังกายได้อย่างต่อเนื่องกลับมีไม่มาก การลงทุนแบบเน้นคุณค่าก็เช่นเดียวกัน ทุกคนทราบดีกว่าการลงทุนในแนวนี้แทบจะการันตีความ”มั่งคั่ง”ในระยะยาว มีตัวอย่างของความสำเร็จให้เห็นมากมายทั้งระดับโลก หรือตัวอย่างในประเทศ เช่น อ.นิเวศน์ของเรา แต่ถึงกระนั้น นักลงทุนในตลาดส่วนมากกลับไม่สามารถจะยึดหลักการการลงทุนแบบนี้ไว้ได้ เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ เราต้องการอะไรที่เห็นผลไว การลงทุนในหุ้นชั้นยอดจึงเป็นเรื่องน่าเบื่อ ไม่เหมือนกับการเก็งกำไรที่เห็นผลเร็วในหลักวัน หรือแม้กระทั่งหลัก”นาที”

ประการที่สอง ผมยิ่งเห็นด้วยกับบทความ practice make permanent ของ อ.นิเวศน์ การอดทนวิ่ง หรือการอดทนลงทุนตามหลักการวีไออย่างเคร่งครัดนั้น เป็นเรื่องที่ทำยากในระยะแรก ผมจำได้ว่าช่วงเดือนแรกที่ผมเริ่มวิ่ง ผมมีเหตุผลมากมายที่จะ “excuse” ตัวเองจากการวิ่งในวันนั้นๆ บางทีผมก็โทษว่าอากาศหนาวไป หรือร้อนไป บางทีผมก็อ้างกับตัวเองว่าวันนี้มีงานวิชาการที่คั่งค้างที่ต้องสะสางให้เสร็จ แต่ผมจากที่ผมเริ่มกัดฟันวิ่งไปได้ประมาณสามเดือน ผมก็เริ่มมีข้ออ้างให้ตัวเองน้อยลง และกลายเป็นความรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวหรือออกจะไม่สดชื่นไปแทน ถ้าหากวันไหนไม่ได้ออกไปวิ่ง การลงทุนแบบเน้นคุณค่าของผมก็เช่นเดียวกัน ช่วงปีแรกที่ผมเริ่มยึดถือการลงทุนแนวนี้ ก็มีอยู่หลายวาระและโอกาส ที่ผมแอบละเมิดกฎเกณฑ์ของตัวเองไปเล่นเก็งกำไรระยะสั้น หรือเล่นตามข่าวที่เพื่อนนักลงทุนรอบตัวบอกว่ามาจาก”วงใน” แต่พอเข้าถึงช่วงปีที่สองที่สาม ผลจากการ “practice” อย่างต่อเนื่องก็ทำให้สไตล์การลงทุนของผมเริ่ม “permanent” ผมกลับมีความรุ้สึกไม่มั่นใจที่จะเก็งกำไร ด้วยความรู้สึกที่ว่า “ไม่อยากขาดทุน” แม้จะเป็นเงินเพียงเล็กน้อยก็ตาม

ประการที่สาม ผมรู้สึกว่าอุปนิสัยที่ดีอย่างหนึ่งมักจะนำไปสู่อุปนิสัยที่ดีอีกอย่างหนึ่ง ตั้งแต่ผมเริ่มวิ่งมาผมรู้สึกว่าอุปนิสัยในการทานอาหารของตัวเองดีขึ้นไปด้วย ผมทานอาหารในปริมาณที่ลดลงเพราะผม”เสียดาย”แคลอรี่ จากการวิ่ง ผมมักจะคิดเสมอๆว่า ถ้าเรากินเฟรนช์ฟรายจานนี้ หรือเค้กชิ้นนี้เข้าไป ที่เราอุตส่าห์วิ่งมาเมื่อตะกี้ ก็จะมีค่าเป็นศูนย์ อุปนิสัยการมองที่คุณค่าในการเลือกซื้อหุ้น ก้นำมาสู่อุปนิสัยการมองที่คุณค่าในการชื้อของในชีวิตจริง และทำให้อุปนิสัยในการจับจ่ายซื้อสิ่งของของผมเปลี่ยนไปในระดับหนึ่ง (จริงๆข้อนี้ ผมไม่ค่อยเปลี่ยนไปเท่าไร เพราะผมติดนิสัยประหยัดมาตั้งแต่เด็กๆ แต่จะกลายเป็นว่าผมกล้าใช้จ่ายมากขึ้นถ้าเห็นว่า intrinsic value ของสิ่งที่ผมจะซื้อนั้นสูงกว่าราคาที่ผมจะจ่าย)

ประการสุดท้ายคือความมหัศจรรย์ของการ”ทบต้น” ในโลกของวีไอเราทราบดีว่า”เวลาคือเพื่อนที่ดีที่สุดของนักลงทุน” เพราะหากเรามีหลักการลงทุนที่แทบจะไม่มีโอกาส “ขาดทุนแบบถาวร” ถึงแม้เราเราจะกำไรปีละไม่มาก แต่ด้วยพลังของการทบต้น เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีในที่สุดกำไรเล็กน้อยก็จะแปรสภาพเป็นความมั่งคั่งให้เรา ข้อนี้อาจจะไม่เหมือนการวิ่งซะเลยทีเดียว แต่ผมก็รู้สึกได้ว่าการวิ่งอย่างต่อเนื่องทำให้สมรรถภาพของกล้ามเนื้อ ปอด และหัวใจของผมดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผมวิ่งได้เร็วขึ้น นานขึ้น โดยทีรู้สึกเหนื่อย/ทรมานลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

Categories: Value investment

เยือนถิ่นปู่บัฟ

October 21, 2013 8 comments

ตอนนี้ผมมาเรียนต่อเฉพาะทางที่อเมริกาคับ เลยห่างๆจากตลาดและการเขียนบลอกไป เหลือบมาดูอีกทีปรากฎว่ายอดวิวทะลุแสนไปแล้ว ^ ^

ช่วง เดือนที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปทำธุระด้านการเรียนต่อ (เฉพาะทางลงไปอีก!) ที่เมืองโอมาฮ่า เลยได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนสถานที่ในตำนานของปู่บัฟครับ เลยขอถือโอกาสฉลองครบแสนวิวด้วยการแชร์ภาพของผม ณ นครโอมาฮ่าคับ

ภาพแรกนี่เจอปู่บัพตั้งแต่ลงเครื่องมาเลยคับ

ออกจากสนามบินมาถึง downtown ก็มาเจอ centurylink, สถานที่ประชุม AGM ของเบิร์คไชร์คับ (เจ้าถิ่นที่พาผมเที่ยวบอกว่าเมืองนี้จะวุ่นวายมากปีละครั้ง)

ถึงแล้วคับ บ้านปู่บัฟในตำนาน

บ้านปู่แบบมีกะเหรี่ยงติดมาด้วย ^ ^

ตอนเย็นก็ไปลุยร้านสเต๊กสุดโปรดของปู่คับ

ชำเลืองมองรอบร้าน เผื่อจะโชคดีเจอปู่มานั่งอยู่ข้างๆ

เมนูมาแล้วคับ

สาวกอย่างเราจะทานอะไรได้


นอกจากทีโบนสุดเลิฟของปู่

เสื้อที่ระลึกงาน AGM

แวะดูกิจการ NFM ของปู่ก่อนเข้าที่พัก

หมดแล้วคับ ช่วงนี้ผมเริ่มพอจะมีเวลาว่าง จะพยายามอัพเดตบลอกให้ถี่ขึ้นนะครับ

Reiter

Categories: Value investment Tags: ,

จิบเบียร์ 1Q55

February 13, 2012 10 comments

งานจิบเบียร์เสาร์ที่ผ่านมา ผมได้รับเกียรติให้ไปเป็นวิทยากรด้วย

ผมพูดเรื่องอเมริกาที่ได้ไปเห็นมาครับ อเมริกาในปี 2012 เขาเป็นอย่างไรกันบ้าง ผมมองเห็นอะไรในฐานะ value investor ที่ได้ไปใช้ชีวิตที่นั่นกว่าหนึ่งปี ติดตามฟังในคลิปนี้ได้เลยครับ

Cash is sin Vs Cash is king

January 30, 2012 8 comments


ผมเป็นแวลูอินเวสเตอร์มา ปีนี้ก็เข้าปีที่ห้า แนวคิดหลักในการลงทุนของผมตั้งแต่วันแรกจนวันนี้แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยกเว้นความคิดเรื่องหนึ่งที่เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก นั่นก็คือเรื่องของการถือครองเงินสด

การลงทุนของผมในช่วงแรกค่อนข้างจะออกแนว”บู๊”มากพอสมควร คือผมมักจะมองไปที่หุ้นคุณภาพกลางๆที่ราคาถูกมากๆ แต่กำลังจะมีเหตุการณ์พิเศษมาเป็นตัวปลดล็อคให้ราคาของหุ้นวิ่งไปถึงราคาที่ผมคิดว่าควรจะเป็น

และที่สำคัญผมมักจะถือหุ้น 100% ตลอดเวลา เพราะผมเชื่อว่าเงินสดคือการเสียโอกาส ( cash is sin ) และการถือหุ้น 100% จะเป็น”สูตรลัด”ในการเร่งความรวยให้ผมไปถึงอิสรภาพทางการเงินได้เร็วขึ้น

ต่อเมื่อผมผ่านประสบการณ์การลงทุนมานานขึ้น ผมกลับเริ่มตระหนักว่า ความคิดในการลงทุนของผมยุคแรกๆ นั้นค่อนข้างจะ”เสี่ยง”และ”กล้าได้กล้าเสีย”มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดเรื่องการพยายามจะถือหุ้น 100% ตลอดเวลา

ประการแรก การถือหุ้น 100% ทำให้พอร์ตของผมไม่ค่อย flexible ในการปรับตัว โดยเฉพาะในเวลาที่ตลาดปรับตัวลงมาอย่างไม่คาดฝัน การไม่มีเงินสดในมือ ทำให้ผมขยับตัวลำบาก บางจังหวะผมอาจจะเห็นหุ้นคุณค่าที่น่าสนใจเพราะตลาดปรับตัวลงมามาก แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าผมไม่มีเงินสดพอที่จะซื้อ ครั้นพอผมจะขายตัวที่ผมถือมีอยู่ในพอร์ตอยู่มาซื้อ ก็เป็นที่น่าเสียดายอีกว่า หุ้นตัวที่ผมถือก็ปรับตัวลงมามากเช่นกัน จนราคาต่ำกว่ามูลค่าเกินเสียกว่าที่ผมจะขายลง

ประการที่สอง การพยายามจะถือหุ้น 100% ตลอดเวลา ทำให้ผมต้องขวนขวายหาหุ้นใหม่ๆ มาเข้าพอร์ตอยู่เสมอ โดยเฉพาะหลังจากที่ผมขายหุ้นตัวเก่าที่ผมเห็นว่าเต็มมูลค่าออกไป ซึ่งการพยายามจะมีหุ้นในพอร์ตตลอดเวลานี้ ทำให้บางครั้ง”เกณฑ์”ในการคัดเลือกหุ้นของผมหย่อนยานลงไป บางครั้งผมก็ซื้อหุ้นที่ผมยังมีข้อสงสัยหรือยังไม่เข้าใจในตัวกิจการอย่างถ่องแท้ หรือบางครั้งผมกัดฟันซื้อหุ้นที่มี upside / margin of safety ไม่มาก เพียงเพราะผมไม่สบายใจที่จะมีเงินสดในพอร์ตเท่านั้นเอง

ประการที่สามคือการถือหุ้น 100% จะทำให้เรา”บาดเจ็บ”อย่างหนักได้ หากมีภาวะวิกฤติเกิดขึ้นมา ผมเคยเขียนถึงแนวทางที่ผมจะทำหากผมคิดว่าจะเกิด economic crisis ขึ้นมา ( บทความเรื่อง “ถ้าจะเกิดวิกฤติ” ) จำนวนเงินสดในพอร์ตก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่จะทำให้เรารับมือกับวิกฤตินั้นๆ ได้ดีขนาดไหน

ผมกล่าวไว้ในบทความก่อนว่า ถ้าผมพิจารณาแล้วว่ากิจการที่ผมถือครองอยู่นั้น ได้รับผลกระทบน้อยมากจากภาวะเศรษฐกิจ และราคาหุ้นยังต่ำกว่าที่ผมประเมินอยู่ ผมก็จะถือครองกิจการนั้นๆต่อ แต่ความจริงอย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือว่า ราคาของหุ้นในระยะสั้นถึงกลาง เป็นเรื่องของอารมณ์มากกว่าเหตุผล บางครั้งนายตลาดอาจจะมีเหตุผลมากพอที่จะรับรู้ว่ากิจการของเราไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ แต่บ่อยครั้งนายตลาดก็มักจะตื่นตกใจทำให้ราคาของหุ้นเราตกลงไปตามภาวะตลาดโดยรวม

ซึ่งถ้าเป็นในกรณีหลัง การที่เรามีเงินสดในมือจะทำให้ทางเลือกมากขึ้นมาก โดยที่เราอาจจะพิจารณาซื้อหุ้นของกิจการนั้นๆเพิ่มขึ้น เมื่อราคาในกระดานตกลงไปมากๆ หรือแม้แต่ที่เราจะพิจารณาลงทุนในบริษัทอื่นๆ ที่อาจจะ”ถูกอย่างเหลือเชื่อ” ในสภาวะที่ตลาดเต็มไปด้วยความหวาดกลัว

คำถามที่สำคัญก็คือว่าช่วงไหนเราควรจะมีเงินสดกี่ %, เมื่อดัชนีขึ้นไปเท่านี้จุด เราควรจะถือเงินสดมากน้อยเท่าไร ผมว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบยาก และไม่ได้ขึ้นกับดัชนีของตลาดสักเท่าไร แต่ขึ้นอยู่กับว่า ณ จุดนั้นๆ เราหาบริษัทที่ยัง undervalue ได้หรือไม่ ด้วยความมั่นใจและ mos มากน้อยขนาดไหน ถ้าหาได้ด้วยความมั่นใจอย่างมาก ผมก็อาจจะถือครองหุ้นตัวนั้นมากเกินกว่าครึ่งนึงของพอร์ตโดยที่ไม่สนใจกับความถูก/แพงของดัชนี แต่ถ้าหาไม่ได้เลย ผมว่านี่ก็เป็นสัญญาณนึงที่บอกเราว่า ตลาดอาจจะแพงมากเกินไปแล้ว และพร้อมจะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงได้ทุกเมื่อ

วอเรน บัฟเฟตเคยกล่าวไว้ว่า เค้าจะต้องมีกระสุนอยู่ในมือตลอดเวลา เพราะเค้าไม่รู้ว่าจะมีช้างเดินผ่านมาเมื่อไร…….

หุ้นหลักทรัพย์

November 21, 2011 5 comments

หุ้นกลุ่มหลักทรัพย์อาจจะเป็นหุ้นที่ไม่ใช่”พระเอก”ในตลาดหุ้นยุคปัจจุบัน แต่หากไปถามนักลงทุนในยุคก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง หุ้นกลุ่มนี้เคยเป็นหุ้น”บลูชิพ”ชั้นดี ที่ติด most active volume/value แทบจะทุกวัน

แต่สำหรับนักลงทุนแนวเน้นคุณค่า ( โดยเฉพาะสาย super stock อย่าง บัฟเฟต์ ) หุ้นหลักทรัพย์คงไม่ได้อยู่ในสายตามากนัก เนื่องจากลักษณะของธุรกิจที่ไม่ได้มีใครได้เปรียบเหนือใคร, มีการแข่งขันต่อการแย่งตัวลูกค้าและมาร์เกตติ้งที่รุนแรง รวมทั้งผลประกอบการที่อ่อนไหวต่อภาวะตลาดหุ้นค่อนข้างมาก และยิ่งประกอบกับการที่รัฐบาลจะเปิดเสรีธุรกิจโบรคเกอร์ในอีกสองปีข้างหน้ายิ่งเป็นตัวกดดันในการแข่งขันของธุรกิจนี้สูงยิ่งขึ้นไปอีก

ด้วยลักษณะของธุรกิจที่ไม่มีความแข็งแรงดังที่กล่าวในข้างต้น ทำให้หุ้นหลักทรัพย์เกือบทั้งหมดถูกเทรดที่ต่ำกว่า book value และบางบริษัทถูกเทรดที่ต่ำกว่าเงินสดต่อหุ้นที่บริษัทมีเสียอีก ซึ่งถ้าหากเรามองจากมุมของเกรแฮมนี่คือการสถานการณ์ของการซื้อแบงค์ดอลลาร์ในราคา 50 เซนต์

แต่ปัญหาก็คือหุ้นในลักษณะนี้มักจะประสบปัญหากับการถูกเรื้อรังอยู่เสมอๆ เพราะตลาดไม่เคยมีมุมมองที่ดีกับหุ้นกลุ่มนี้ ( เราอาจจะคิดว่าเราซื้อได้ที่ 0.6 เท่าของบุคแวลู ซึ่งเป็นราคาที่ถูกมาก แต่หลังจากที่เราถือหุ้นไปสองปีสามปี ราคาก็ยัง”ถูก” อยู่ที่ 0.6 เท่าของบุคแวลูเท่าเดิม เพราะตลาดก็ยังมีมุมมองที่แย่จ่อหุ้นหลักทรัพย์เหมือนเดิม )

ผมเองเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่าสาย bargain hunter ที่มาล่าส่วนลดกับหุ้นหลักทรัพย์อยู่บ่อยๆ แต่ไม่ใช่เพราะว่าผมเห็นส่วนต่างระหว่างราคาในกระดานกับบุคแวลู แต่ผมเห็นว่าหุ้นกลุ่มนี้เป็นหุ้นวัฎจักรที่อิงกับวัฎจักรของเศรษฐกิจมหภาค ( economic cycle ) เพราะรายได้หลักของบริษัททั้งสามทาง อันได้แก่ 1.ค่าคอมมิชชั่นจากการที่ลูกค้าซื้อขายหลักทรัพย์ 2.กำไร/ขาดทุนจากพอร์ตการลงทุนของบริษัทเอง และ 3.รายได้จากงานวาณิชธนกิจ ( เช่น การเป็น underwriter เอาหุ้นใหม่เข้าตลาด ) นั้นแปรผันขึ้นลงตามสภาวะเศรษฐกิจทั้งสิ้น ( ในยุคปัจจุบันบางบริษัทจะมีรายได้อีกทาง คือการเป็นเจ้ามือออก DW )

ผมจะเริ่ม watch หุ้นกลุ่มนี้เมื่อเศรษฐกิจมหภาคเริ่มมีปัญหา เพราะอย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นว่า รายได้ของบริษัทนั้นผันผวนตามสภาพ macroeconomic และเมื่อ macro มีปัญหา บริษัทมีโอกาสที่จะโดน “perfect storm”เล่นงาน เพราะรายได้จากค่าคอมมิชชั่นมักจะลดลงอย่างมากจากสภาพตลาดหุ้นที่ซบเซา บริษัทอาจจะไม่มีรายได้จากงานวาณิชธนกิจเลย เพราะเศรษฐกิจที่ไม่ดีทำให้ไม่มีใครอยากจะมาระดมทุนในตลาด หรืออยากจะควบรวมกิจการกัน รวมทั้งบริษัทอาจจะเจอ”แจ๊คพอต” ขาดทุนอย่างหนักจากพอร์ตการลงทุนตามดัชนีที่ลดลงมาอย่างมาก

ผลจาก “perfect storm” และความหวาดกลัวของนักลงทุน มักจะทำให้หุ้นกลุ่มนี้ถูก discount ลงไปอย่างมากในช่วง economic down cycle บางครั้งอาจจะลงไปเหลือแค่ 0.1 -0.2 เท่าของบุคแวลู หรืออาจจะเหลือแค่ 0.5-0.6 เท่าของเงินสดต่อหุ้น

ผมมักจะ watch หุ้นกลุ่มนี้จนผมเริ่มมองเห็น sign of economic recovery หรือเห็น sign of market recovery ( ทั้งในแง่วอลุมและตัวเลขดัชนีตลาด ) เพราะผลประกอบการของบริษัทจะพลิกกลับมากำไรอย่างมากในช่วง bull market และราคาในกระดานอาจจะพุ่งไปได้หลาย”เด้ง” จากจุดต่ำสุดหลังจากบริษัทเจอ perfect storm

นอกจากนี้บริษัทในกลุ่มนี้ยังมีจุดเด่นในเรื่องกระแสเงินสด เนื่องจากบริษัทไม่จำเป็นต้องลงทุนกับสินทรัพย์ถาวรอะไรมากมาย รวมทั้งไม่จำเป็นจะต้องใช้ working capitol ในปริมาณมากเพื่อดำเนินธุรกิจ ทำให้บริษัทมักจะมีกระแสเงินสดที่ดีมาก และสามารถจ่ายปันผลได้เป็น%มากๆของกำไร ( บางบริษัทอาจจะปันผลทั้ง 100% ) ซึ่งปันผลที่มาก ก็จะเป็น catalyst ทีดีมากอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ราคาพุ่งไปได้ไกลในช่วง up cycle

อย่างไรก็ดี ข้อที่เราควรจะพึงระวังอย่างหนึ่งก็คือ แม้ว่าเศรษฐกิจ/ตลาดหึ้นจะเป็นรอบขาขึ้น บางครั้งผลประกอบการของบริษัทก็อาจจะแย่ลงก็ได้ หากบริษัทบังเอิญไปขาดทุนจากพอร์ตการลงทุน ( เช่นไป short future ไว้มาก หรือขาดทุนจากตลาด commodity ) หรือในกรณีที่บริษัทสูญเสียลูกค้ารายใหญ่ ( เช่นลูกค้าย้ายจากบริษัทเราตามมาร์เกตติ้งออกไป ) ดังนั้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ เราก็ต้องมองภาพรายบริษัทด้วย ไม่ใช่เพียงมองแต่ภาพรวมของตลาดเพียงอย่างเดียว

Bargain Hunter

September 7, 2011 7 comments

นักลงทุนที่เรียกตัวเองว่าเป็น VI ในบ้านเราส่วนใหญ่ไม่ได้ลงทุนในกิจการยอดเยี่ยมที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืนและมีผู้บริหารที่มีธรรมาภิบาลอย่างปรมาจารย์ VI อย่างวอเรนต์ บัฟเฟต์ เขาเหล่านั้นมักจะลงทุนในกิจการที่อาจจะไม่ได้มีคุณภาพดีมาก แต่เขามองเห็นแล้วว่า ราคาที่ซื้อขายกันในกระดานต่ำกว่ามูลค่าแท้จริงที่มันควรจะเป็น และเมื่อราคาในกระดานสะท้อนตามมูลค่าที่พวกเขาคิดว่าจะเป็นแล้ว เขาก็จะขายหุ้นตัวนั้น แล้วก็มองหาหุ้นตัวใหม่ที่มีลักษณะแบบนี้อีก

เหตุผลที่พวกเขาไม่ได้ลงทุนตามอย่างปรมาจารย์บัฟเฟต์ ก็มักจะเป็นเพราะเขาเหล่านั้นมักคิดว่าคุณภาพของกิจการในตลาดบ้านเราไม่ได้ยอดเยี่ยม มีแบรนด์ที่แข็งแรง มี competitive advantage เยอะๆ ดังตลาดอเมริกา การจะหากิจการยอดเยี่ยมขนาดนี้ที่จะถือไว้”ตลอดกาล”แบบบัฟเฟต์ อาจจะเป็นเรื่องทื่ทำได้ยาก และลึกๆแล้ว พวกเขาก็มักจะคิดว่า สเถียรถาพของตลาดทุนบ้านเรานั้นต่ำ อ่อนไหวได้ง่ายกับทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งยาวๆบางครั้งก็อาจจะเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยง

ที่สำคัญอีกประการคือพวกเขามักจะคิดว่า การสวิชหุ้นเปลี่ยนตัวเล่นไปเรื่อยๆ จะทำให้พอร์ตของพวกเขาโตได้เร็วกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่พอร์ตของเขายังไม่ใหญ่โตมาก สามารถซื้อขายหุ้นแต่ละตัวได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องกังวลกับปัญหาสภาพคล่อง

ลักษณะการลงทุนของ VI บ้านเรานี้ ผมมีความเห็นว่าคำศัพท์คำนึง สามารถอธิบายลักษณะการคิดและการลงทุนของพวกเขาได้ดี นั่นก็คือคำว่า bargain hunter

พวกเขาเหล่านี้จะมีธรรมชาติของการเป็นนักล่า”ส่วนลด” เมื่อใดก็ตามที่เขาเห็นส่วนลดของ”ราคา”จาก”มูลต่า” เขาก็พร้อมจะจู่โจมเข้าล่า และจากไปเมื่อ”ส่วนลด”หมดไป

แล้วพวกเขาตามหาส่วนลดเหล่านี้ได้อย่างไร? คำตอบคือเขาทำการบ้านในแง่”พื้นฐาน”อย่างหนัก ทั้งการอ่านรายงาน 56-1 ฟัง opportunity day โทรสอบถามข้อมูลจาก IR ไป company visit อ่านบทวิเคราะห์ ทดลองใช้สินค้าและบริการของบริษัท etc. จนกระทั่งเขาค้นพบความดีความงามของบริษัทที่ตลาดยังไม่ทัน recognize และยังไม่ทันจะ price in เช่น อาจจะค้นพบว่าบริษัทมี backlog ก้อนใหญ่ในมือ ที่จะทำให้กำไรปีนี้สูงสุดเป็นประวัติกาล, อาจจะเจอว่าบริษัทมีศักยภาพในการเติบโตสูง และน่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 20% ต่อปีไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี, อาจจะพบว่าบริษัทมีกำลังการผลิตใหม่ ที่จะทำให้กำไรของบริษัทกำลังจะโตก้าวกระโดดในอีกหนึ่งปีข้างหน้า หรืออาจจะพบว่าบริษัทเปลี่ยน business model ไปแล้ว ทำให้รายได้และกำไรมีสเถียรภาพมากกว่าเดิม ขัดกับภาพในอดีตที่คนทั่วไปคิดว่างบการเงินของบริษัทลุ่มๆดอนๆ กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง เป็นต้น

บางคนอาจจะมีคำถามขค้นมาว่าการลงทุนแบบ bargain hunting นี้ เป็นการลงทุนแบบ VI หรือไม่ คำตอบสำหรับผมก็คือ ขึ้นอยู่กับว่าเรานิยามคำว่า VI ไว้อย่างไร ถ้านิยามว่า VI เท่ากับ undervalue แน่นอนว่า bargain hunting ย่อมเป็นแขนงหนึ่งของ value investment

อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญ ไม่ได้อยู่ที่นิยามและชื่อเรียก ที่ผมจะสื่อก็คือว่า คนที่ถูกเรียกว่าเป็น VI ในบ้านเราเป็น bargain hunter กันเสียเกือบหมด ดังนั้นเวลาที่พวกเขา ( รวมถึงผมเอง ) ซื้อหุ้นหรือเชียร์หุ้นตัวไหน นั่นแปลว่าเขากำลังล่าส่วนต่างระหว่างราคากับมูลค่า ถ้าเราซื้อเป็นไม้ถัดไป ส่วนต่างย่อมน้อยลง และถ้าเราเป็นไม้ท้ายๆ นั่นอาจจะเป็นจุดที่ไม่เหลือส่วนต่างแล้วก็ได้ และนั่นก็จะเป็นจุดที่ bargain hunter เทขาย ก่อนที่พวกเขาจะไปล่า”ส่วนลด”ตัวต่อไป

บทความของดร.นิเวศน์ที่เปลี่ยนชีวิตผม

August 28, 2011 11 comments

บทความนี้ เปลี่ยนชีวิตผมเมื่อสี่ปีก่อน ( และเป็นบทความที่ผมอ้างถึงในรายการ Money talk ครับ )

ตอนนั้นที่ผมอ่าน อยากจะบอกว่า”ขนลุก”และเปลี่ยน”ทัศนคติ”ของผมจากนักเก็งกำไรรายวันไปโดยสิ้นเชิง

อยากให้คนที่ไม่เคยอ่านได้อ่าน และคนที่เคยอ่านแล้วอ่านซ้ำ เพื่อรักษา”ทัศนคติที่เราหวงแหนที่สุด”เอาไว้

กลยุทธ์อาจปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ แต่หลักการและทัศนคติของเราต้องไม่เปลี่ยนครับ 🙂

การลงทุนเพื่อชีวิต : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

คนที่ลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น มีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายแตกต่างกันไป บางคนทำเพื่อความสนุกสนานตื่นเต้น บางคนลงทุนเพราะหวังว่าจะรวยได้เร็ว บางคนทำเพื่อหวัง “ค่ากับข้าวหรือค่าขนม” บางคนคิดว่าจะลงทุนเพื่อให้มีรายได้ประจำเป็นรายเดือนเพื่อนำมาใช้จ่าย บางคนลงทุนเพื่อนำมาใช้เครดิตภาษีรายได้ แต่สำหรับผมแล้ว การลงทุนในหุ้นนั้น ทำเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในวันข้างหน้า พูดง่ายๆ มันเป็น “การลงทุนเพื่อชีวิต”

การลงทุนเพื่อชีวิตนั้นอย่างน้อยต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

ข้อแรกก็คือ เราทำมันอย่างมีสำนึกที่ดีกับการลงทุนซื้อขายหุ้น เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ดีต่อตัวเรา มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคม มันไม่ใช่การพนันที่จะทำให้ชีวิตของเราตกต่ำลง แต่การลงทุนในหุ้นนั้น มันเป็นการสร้างอนาคตที่ดีนั่นคือ มันสร้างความมั่นคง และความมั่งคั่ง โดยการลงทุนในธุรกิจที่ดี และจะเฟื่องฟูต่อไปในอนาคตอันยาวนาน ผ่านการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ สิ่งนี้ไม่ต่างไปจากคนที่ก่อร่างสร้างตัวทำธุรกิจด้วยตนเอง ซึ่งมักจะได้รับการสรรเสริญจากสังคมว่าเป็นคนที่ทำมาหากิน มีความพยายาม และความมุ่งมั่นสูง สรุปอย่างสั้นๆ ก็คือ การลงทุนเพื่อชีวิตนั้น เราต้องสะสมหุ้นที่ดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในลักษณะที่เหมือนกับว่าเรากำลังทำธุรกิจตามหุ้นที่เราซื้อ ถ้าเราซื้อหุ้นของบริษัทที่ขายอาหาร เราก็กำลังทำธุรกิจขายอาหาร เราซื้อหุ้นของบริษัทที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน เราก็กำลังทำธุรกิจของร้านนั้น

ข้อสอง ถ้าจะเป็นการลงทุนเพื่อชีวิต การลงทุนนั้นจะต้องทำอย่างจริงจัง การซื้อขายหุ้นอย่างฉาบฉวย ซื้อหุ้นเฉพาะในช่วงที่ “ตลาดกำลังขึ้น” หรือซื้อหุ้นโดยไม่ได้มีการศึกษาเป็นอย่างดีย่อมไม่ใช่การลงทุนเพื่อชีวิต ดังนั้น ในการลงทุนเพื่อชีวิต คนที่ทำจะต้องให้เวลา และศึกษาเรื่องของการลงทุนในหุ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จะต้องวิเคราะห์และติดตามธุรกิจของหุ้นที่ลงทุนอย่างใกล้ชิด ความจริงจังในการลงทุนนั้น ผมหมายถึงว่า เราควรจะต้องเรียนรู้หลักการทางธุรกิจพื้นฐานที่จำเป็นต่อการลงทุนด้วยถ้าเราไม่รู้ เช่น การบัญชีและการเงินพื้นฐาน

ข้อสาม การลงทุนเพื่อชีวิตนั้น หมายความว่าการลงทุนในหุ้นจะต้องมีสัดส่วนที่มีนัยสำคัญสูง เมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องสูงที่เรามีอยู่ ซึ่งในความเห็นของผมนั้นควรที่จะไม่น้อยกว่า 40-50% ขึ้นไป ตัวเลขนี้อาจจะดูว่าค่อนข้างจะสูง แต่ถ้าคำนึงถึงทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่อง ที่เรามักจะมีสัดส่วนมากในความมั่งคั่งของเรา ผมคิดว่าการลงทุนในหุ้นในระดับดังกล่าวก็ไม่สูงเกินไป

ข้อสี่ การลงทุนเพื่อชีวิตนั้น ต้องเป็นการลงทุนที่ต่อเนื่องยาวนาน ผมคิดว่าถ้าตลอดชีวิตได้ก็ยิ่งดี แต่ถ้าทำไม่ได้ อย่างน้อยก็จนถึงวันที่เราเกษียณ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะการลงทุนต่อเนื่องยาวนานเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่ง ต่อความสำเร็จของการลงทุน เหตุผลก็คือ เวลาที่ยาวนานจะช่วยลดความผันผวนของผลตอบแทนการลงทุนลงได้มหาศาล และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ มันช่วย “ทบต้น” เงินหรือความมั่งคั่งของเราขึ้นไปอย่างทวีคูณ

ข้อห้า การลงทุนเพื่อชีวิตนั้น หมายความว่าเพื่อชีวิตในวันข้างหน้าโดยเฉพาะเมื่อเราไม่ได้ทำงานแล้ว ดังนั้น ในขณะที่เรายังมีรายได้จากการทำงาน เราไม่ควรจะถอนการลงทุนออกมาใช้ เงินปันผลที่ได้มาจากการลงทุนในหุ้น จะต้องนำกลับไปซื้อหุ้นไม่มีการนำมาใช้ และไม่ว่าเราจะได้กำไรจากหุ้นเท่าไร เราก็จะไม่ถอนมาใช้จ่ายหรือ “ให้รางวัลตัวเอง” เราจะใช้เงินเฉพาะที่มาจากการทำงานเท่านั้น ว่าที่จริง สำหรับคนที่พอร์ตการลงทุนยังเล็ก เขาจำเป็นที่จะต้องกันเงินจากการทำงาน มาลงทุนในหุ้นเพิ่มเติมตลอดเวลาที่เขายังมีรายได้ด้วยซ้ำไป

ข้อหก การลงทุนเพื่อชีวิตนั้น แปลว่าหุ้นทุกตัวที่ซื้อลงทุนจะต้องมีความปลอดภัยต่อการ “ขาดทุนอย่างถาวร” นั่นคือ หุ้นจะต้องมี Margin of Safety เพียงพอ ซื้อแล้วโอกาสที่จะขาดทุนในระยะยาวมีน้อยมากเนื่องจากตัวกิจการมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และมีคุณค่าสูงกว่าราคาหุ้นมาก นอกจากนั้น เพื่อที่จะรับประกันว่าโอกาสที่เราจะเสียหายจากการลงทุนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย การลงทุนเพื่อชีวิตจะต้องมีการกระจายความเสี่ยงบ้าง นั่นก็คือ เราควรจะต้องถือหุ้นอย่างน้อยสัก 4-5 ตัวโดยเฉลี่ย เพื่อที่ว่า หากเราวิเคราะห์หรือคาดการณ์ผิดในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง เราก็ยังไม่เสียหายเนื่องจากยังมีหุ้นที่เราคาดการณ์ได้ถูกต้องอีกหลายตัว ที่ทำเงินชดเชยได้

สุดท้าย การลงทุนเพื่อชีวิตที่จะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จก็คือ วันที่เงินลงทุนในหุ้นของเรา สามารถจ่ายปันผลคิดเป็นเงินเพียงพอต่อการใช้จ่ายประจำปีของเราได้แล้ว เพราะนั่นหมายความว่า เราสามารถที่จะอยู่ได้ด้วยหุ้นที่เราเก็บสะสมมา แน่นอนเราไม่จำเป็นต้องหยุดทำงาน แต่เราสามารถเลือกที่จะทำงานที่เราพอใจได้ และก็แน่นอนอีกเช่นกันว่า เราไม่จำเป็นต้องเลิกลงทุนในหุ้น เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลเลยที่จะละทิ้งสิ่งดีๆ ที่ได้สร้างความมั่นคง และความมั่งคั่งให้เรามายาวนาน เพียงเพราะเราอาจจะคิดว่า “หุ้นเป็นเรื่องที่เสี่ยง เมื่อได้กำไรเพียงพอแล้วก็ควรจะหยุด” ว่าที่จริงเมื่อประสบความสำเร็จในเป้าหมายแรกแล้ว การที่จะประสบความสำเร็จในเป้าหมายต่อไปก็มักจะง่ายขึ้น ความเสี่ยงของหุ้นนั้น ถ้าเราลงทุนแบบ “เพื่อชีวิต”ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นก็มักจะเป็นว่า เราอาจจะไม่ได้มีเงินถึง 20 ล้านบาทตามที่คาด แต่เราก็อาจจะได้ถึง 5 ล้านบาทจากเงินเริ่มแรกเพียง 1 ล้านบาท เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปี แต่โอกาสที่หุ้นจะมีค่าลดลงต่ำกว่า 1 ล้านบาท นั้นแทบเป็นไปไม่ได้ไม่ต้องพูดถึงว่าหุ้นจะหมดค่า

และทั้งหมดนั้นก็คือ บางส่วนของกลยุทธ์การลงทุนแบบ “เพื่อชีวิต” ที่ผมคิดว่า คนจำนวนมากที่เป็นมนุษย์เงินเดือน สามารถนำไปใช้และจะประสบความสำเร็จได้อย่างน่ามหัศจรรย์

ถ้าจะเกิดวิกฤติ

August 16, 2011 11 comments

ผมเป็นนักลงทุนที่ไม่ได้บอบช้ำจากวิกฤติ subprime มากนัก เพราะในตอนนั้นผมยังเป็น trader มากกว่า investor ทำให้ผม cut loss ได้ค่อนข้างเร็วกว่าที่ตลาดจะตกลงมามาก

หลังจากผมเปลี่ยนแนวจากการเล่นหุ้นมาเป็นนักลงทุนแนวพื้นฐานเต็มตัว สิ่งหนึ่งที่ผมยังกังวลอยู่ลึกๆก็คือว่า ถ้าหากมีวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมาอีกรอบ ผมจะทำอย่างไร?

ผมมีเพื่อนที่เป็น trader หลายคน ซึ่งทุกคนก็มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของนักลงทุนแนวเน้นพื้นฐานก็คือว่ามักจะไม่มี exit strategy ดังนั้นเมื่อตัดสินใจอะไรผิดพลาดก็มักจะเสียหายหนัก

ปกติแนวคิดของผมมักจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับเพื่อนกลุ่มนี้ แต่ข้อนี้ผมกลับเห็นด้วย เพราะโดยมากสำหรับแวลูอินเวสเตอร์ ถ้าหากเราวิเคราะห์พื้นฐานของกิจการ ผิดพลาด หรือมีปัจจัยภายนอกที่เราคาดไม่ถึงมากระทบอย่างรุนแรง เราก็มักจะทนถือจนราคาลงไปมากเสียแล้ว

วิกฤติทางเศรษฐกิจก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มักจะกระทบต่อพื้นฐานของบริษัทที่เราลงทุน แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจอีกว่า แวลูอินเวสเตอร์ส่วนมาก มักจะมองข้ามปัจจัยข้อนี้ไป

ผมเคยคิดหาวิธีลงทุนในภาวะวิกฤติอยู่หลายต่อหลายครั้ง และนี่คือแนวทางที่ผมจะปรับตัว หากผมคิดว่าวิกฤติเศรษฐกิจจะเกิด

อันดับแรกเลยก็คือผมจะพยายามแยกให้ออกว่านี่เป็น crisis จริงๆ หรือเป็นแค่ panic อันที่จริงการพยายามแยกสองภาวะนี้ออกจากกันคงทำได้ไม่ง่าย และกว่าเราจะรู้แน่ชัดว่านี่คือ crisis ก็คงจะเป็นจุดที่เราอยู่ใน crisis เต็มตัวไปแล้ว ที่ผมพยายามจะทำก็คือว่า ผมจะพยายามดูตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายๆตัวประกอบกัน เช่น อัตราเงินเฟ้อ GDP ดุลบัญชีเดินสะพัด ยอดขายรถในประเทศ / ต่างประเทศ ยอดการโอนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ถ้าตัวเลขต่างๆเหล่านี้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ผมก็มักจะเชื่อว่า macro ของเรายังดีอยู่ ( แน่นอนว่าผมไม่ใช่ economist ย่อมไม่สามารถตีความตัวเลขเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ ผมเพียงแต่เอาตัวเลขหลายๆตัวมาประกอบ พอให้ผมเห็นภาพใหญ่ได้ว่า macro ของเราแนวโน้มออกไปทางดีหรือไม่ดี ) และผมจะให้น้ำหนักกับการบริหาร port ให้มีความระแวดระวังต่อการเกิด crisis ( ด้วยวิธีต่างๆ ที่ผมจะพูดต่อไป ) ไม่มากนัก

อันดับต่อมา ถ้าหากผมพิจารณาแล้วว่า โอกาสเกิดวิกฤติอยู่ในระดับสูงเกินกว่าที่ผมจะรู้สึกสบายใจ ผมจะกลับมาพิจารณาพื้นฐานของกิจการที่ผมถืออยู่อย่างละเอียด และผมก็มักจะไม่สบายใจที่จะถือกิจการที่อ่อนไหวกับ macro economic มากๆ ต่อ

กิจการที่ว่า ได้แก่ กิจการที่ค้าขายสินค้าโภคภัณฑ์ ( commodity ), กิจการที่ขึ้นลงตาม economic cycle เช่น อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ยานยนต์ อิเลกโทรนิค นิคมอุตสาหกรรม, กิจการที่ขายสินค้าหรือบริการที่ฟุ่มเฟือย เช่น กลุ่มการบิน และการท่องเที่ยว และสุดท้าย คือกลุ่มกิจการที่ปล่อยสินเชื่อ และมีความเสี่ยงสูงต่อ NPL ในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่

ทั้งนี้หากกิจการที่ผมถืออยู่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่อ่อนไหวกับภาวะเศรษฐกิจมากๆ ดังกลุ่มกิจการข้างต้น ผมก็จะมาดูต่อว่าโดยตัวบริษัทเอง มีเหตุการณ์พิเศษอะไรหรือไม่ที่จะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจขาลงเป็นพิเศษ เช่น บริษัทอาจจะเป็นบริษัทในกลุ่มค้าปลีก ที่ยอดขายได้รับผลกระทบจาก macroeconomic น้อย แต่บังเอิญว่า ในขณะนั้นบริษัทเพิ่งลงทุนเปิดสาขาใหม่ด้วยเงินกู้หลายพันล้าน เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุการเฉพาะตัวที่จะทำให้ผมไม่สบายใจที่จะถือกิจการนั้นต่อ เพราะเมกะโปรเจคต์ของบริษัท มาเปิดดำเนินงานในช่วงที่อาจจะมีวิกฤติพอดี ทำให้เมกกะโปรเจคต์นั้นล้มเหลว และทำให้บริษัทขาดทุนได้มาก

ถ้าผมพิจารณาแล้วว่ากิจการที่ผมถือครองอยู่นั้น ได้รับผลกระทบน้อยมากจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ผมก็มักจะสบายใจที่จะถือหุ้นต่อ เพียงแต่สิ่งต่อมาก็คือ ผมจะเพิ่มความ conservative ในการพิจารณามูลค่าที่เหมาะสมของบริษัท ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมพิจารณาแล้วว่า หุ้นของผมควรจะเทรดที่พีอี 8 -10 หากเป็นในภาวะปกติ ผมอาจจะยังถือหุ้นอยู่ถ้า หุ้นถูกเทรดที่พีอี 8 และผมยังไม่สามารถหาหุ้นที่ undervalue มากกว่าได้ แต่ในภาวะที่ผมไม่แน่ใจกับ macroeconomic ผมก็มักเพิ่ม MOS ด้วยการตัดสินใจว่าราคาหุ้นเต็มมูลค่าไปแล้วตั้งแต่ pe 8 หรือในกรณีที่ผมประเมิน FV ด้วยการทำ DCF ผมก็มักจะเพิ่มอัตราการคิดลด เช่น จาก 8% เป็น 9%, 10%

ประการสุดท้าย ผมมักจะใช้เงินสดที่เหลือในพอร์ตซื้อหุ้นยากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นเพราะว่า ผมมักจะเลือกลงทุนในหุ้นน้อยกลุ่มลง และมีมุมมองต่อ valuation ที่ conservative มากขึ้น ตามที่ผมกล่าวถึงในข้างต้นแล้ว ผมยังมักจะอยากจะมีเงินสดจำนวนหนึ่งเหลือไว้เสมอ เผื่อที่จะมีสถานการณ์ที่หุ้น”ถูกอย่างเหลือเชื่อ”

ความกังวลต่อวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจจะเกิด หากจะมองในแง่ดีก็เป็นโอกาสที่จะทำให้เราได้กลับมาทบทวนพื้นฐานและความสามารถในการแข่งขันของกิจการที่เราถือครองอยู่ กิจการที่เรามีความมั่นใจมากพอที่จะถือผ่านวิกฤติ ก็มักจะเป็นกิจการที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน นั่นหมายความว่า หลังจากวิกฤติผ่านไปพอร์ตของเราจะมีแต่หุ้นที่มีคุณภาพสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะกล่าวถึงก็คือ แล้วผมมีความคิดเห็นอย่างไรต่อวิกฤติประเภทอื่นๆ เช่น วิกฤติทางการเมือง วิกฤติทางการทหาร / การต่างประเทศ, วิกฤติเหล่านี้ ส่วนมากจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทในระยะสั้นๆ แต่แทบไม่มีผลอะไรกับพื้นฐานบริษัทในระยะยาว หากราคาหุ้นในกระดานลดลงเพราะเหตุเหล่านี้ ผมเชื่อว่านี่คือโอกาสที่เราจะหวด “ perfect pitch “

ทำใจแบบ fundamentalist

July 31, 2011 12 comments

ช่วงปีสองปีมานี้ผมรู้สึกว่าผมมีความสุขและนิ่งกับการลงทุนกว่าสมัยแรกๆ มากพอสมควร ทั้งที่จริงๆแล้วแนวคิดและวิธีการลงทุนของผมแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมสักเท่าไร

สาเหตุหลักน่าจะเกิดจากประสบการณ์ที่มากขึ้นทำให้ผมเข้าใจถึงความเป็นไปของตลาด และ”ทำใจ”กับความความเป็นไปบางประการของตลาดได้มากขึ้น

ประการแรกเลยก็คือว่า ผมทำใจได้ว่าราคาหุ้นในระยะสั้นถึงกลางเป็นเรื่องของอารมณ์มากกว่าเหตุผล ดังนั้นหากผมซื้อหุ้นที่เราพิจารณาอย่างดีแล้วว่ามีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม แต่แล้วราคาหุ้นก็ไม่ไปไหน อาจจะเป็นเดือน หรือเป็นปี ผมก็มักจะทำใจอดทนรอได้ และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมก็มักจะพบว่าหลังจากที่ผมอดทนรอไปสักพัก ในที่สุดแล้วราคาหุ้นก็จะวิ่งเข้าไปหามูลค่าที่เหมาะสมตามที่มันควรจะเป็น

และในทำนองตรงข้ามหากผมพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าหุ้นตัวนี้ราคาแพงเกินกว่าที่ควรจะเป็น หรือมี MOS ต่ำเกินกว่าที่ผมจะสบายใจที่จะลงทุน แต่หุ้นก็วิ่งขึ้นไปต่อ อาจจะด้วยแรงเก็งกำไรหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมก็มักจะทำใจได้ว่าการลงทุนกับหุ้นตัวนี้เป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ผมขาดทุนได้มาก และนี่เป็นเกมที่ผมไม่ถนัด

นอกจากนั้น ผมก็มักจะมีความสุขและรู้สึกยินดีที่ได้เห็นเพื่อนๆของผม และนักลงทุนท่านอื่นๆ ทำกำไรกับหุ้นตัวนี้ไปได้อย่างงดงาม

ประการที่สอง ผมทำใจได้ว่าการคาดเดาตลาดเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งเดียวที่เราจะทำได้คือการซื้อและถือจนกว่าราคาจะสะท้อนมูลค่าออกมา, ผมเคยคิดว่ากลยุทธ์ที่น่าจะดีกว่ากลยุทธ์ Buy and Hold ของ VI นั่นก็คือกลยุทธ์การ Buy and Hold ตราบเท่าที่ตลาดยังเป็นขาขึ้น และ Sell เมื่อตลาดเป็นขาลง ( และอาจจะไป Buy ใหม่ เมื่อตลาดเป็นขาขึ้นอีกครั้ง ) ซึ่งถ้าเราทำได้ตามนั้น ย่อมดีกว่าซื้อแล้วถือไปเฉยๆ อย่างแน่นอน

แต่ปัญหาก็คือว่าผมมักจะทำนายทิศทางของตลาดผิดอยู่เสมอๆ ผมเคยลองพยายามทำนายทิศทางตลาด”ในใจ”เล่นๆ ไม่ว่าจะด้วยการใช้ข่าวสารต่างๆมาประกอบ สถานการณ์การเมือง ตัวเลขทางเศรษฐกิจ สถานการณ์เศรษฐกิจของโลก รวมทั้งเครื่องมือทางเทคนิคที่นักเทคนิคอลมักจะใช้กัน เช่น เส้นค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก, MACD

ซึ่งจากประสบการณ์การทำนายในใจของผม ผมพบว่าผมมักจะทำนายผิดมากกว่าทำนายถูก และหากผมซื้อขายตามการทำนายทิศทางตลาดของตัวเอง ผมก็มักจะขายหุ้นในราคาที่ถูก และซื้อคืนในราคาที่แพงกว่าเดิมอยู่เสมอ และยังไม่นับรวมถึงค่าคอมมิชชั่นที่ผมจะต้องเสียเป็นจำนวนมากจากการซื้อๆขายๆ

ประการต่อมาผมทำใจได้ว่าการคิดการวิเคราะห์ของเราย่อมมีโอกาสผิดพลาดได้เสมอ ผมมักจะเผื่อใจไว้เสมอๆ ว่าผลการดำเนินงานของบริษัทอาจจะไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ว่า ข้อมูลของบริษัทที่เรามีไม่ละเอียดมากเพียงพอ ( ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติสำหรับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ) มีปัญหาบางอย่างที่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทเกิดขึ้น ปัญหาจากธรรมาภิบาลของผบห. หรือที่พบได้บ่อยที่สุดจากอคติของเราเองในการวิเคราะห์

ผมมักจะทำใจได้ว่านี่คือความเจ็บปวดที่แวลู อินเวสเตอร์จะได้เจอในช่วงชีวิตของการลงทุน และผมจะเก็บความผิดพลาดเหล่านี้มาเป็นบทเรียนให้การวิเคราะห์ครั้งต่อๆไปของผมมีความแม่นยำมากขึ้น

นอกจากนั้นผมก็พยายามจะเผื่อเหลือเผื่อขาดต่อโอกาสที่ผมจะวิเคราะห์บริษัทผิดพลาด ด้วยการกระจายการถือหุ้นในหลายๆบริษัท และเหลือเงินสดจำนวนหนึ่งไว้ในพอร์ตเสมอๆ ( อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความก่อนเรื่อง เสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย )

ประการสุดท้าย ผมทำใจได้ว่าไม่มีวิธีการลงทุนใดที่จะสมบูรณ์แบบตลอดเวลา และตลอดทุกภาวะตลาด ผมลงทุนในแบบเน้นคุณค่า เนื่องจากผมค่อนข้างสบายใจกับการใช้ตรรกะแบบวิทยาศาสตร์ของการลงทุนด้วยวิธีนี้ และผมได้รับผลตอบแทนที่ดีมากเทียบกับวิธีการลงทุนแบบอื่นๆที่ผมเคยใช้ แต่ผมก็ทำใจได้ว่าในบางช่วงเวลาบางโอกาส การลงทุนในแนวอื่นอาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าและรวดเร็วกว่า แต่นั่นก็ไม่ใช่วิธีที่ผมถนัด และอยู่นอกกรอบความสามารถของผม ดังนั้นสิ่งที่ผมมักจะทำก็คือทำใจและลงทุนในกรอบที่ผมถนัดต่อไป