Home > Value investment > DCF made easy ( 1 )

DCF made easy ( 1 )

1.ว่ากันตามทฤษฎีทางการเงินการวัดมูลค่าหุ้นด้วย model ของ DCF ( Discounted Cash Flow ) จัดเป็นการวัดมูลค่าหุ้นที่แม่นยำที่สุด เพราะเป็นการประเมินมูลค่าหุ้นจากการนำกระแสเงินสดอิสระทั้งหมดที่บริษัทจะผลิตได้ ตั้งแต่วันนี้จนไปถึงอนันตกาล

2.คำถามแรกคือ กระแสเงินสดอิสระ ( Free Cash Flow : FCF ) คืออะไร, FCF ก็คือ กระแสเงินสดที่เกิดจากกำไรอันเป็นรูปเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท ลบด้วยจำนวนเงินที่จะเก็บไว้ลงทุนต่อและเงินที่ต้องเก็บไว้ใช้เป็นทุนหมุนเวียนภายในบริษัท ( เขียนเป็นสมการจะได้เป็น : FCF = Operating Cash Flow – [ Capital Expenditure + Change in Working capital ] )

3.แล้วทำไมการวัดมูลค่าบริษัทด้วย Summation of FCF ถึงมีความแม่นยำสูงสุด? คำตอบก็คือเป็นเพราะ FCF เป็นสิ่งที่สะท้อนผลการดำเนินงานของบริษัทได้ดีที่สุด เนื่องจาก FCF เป็นตัวที่บ่งบอกว่าบริษัทผลิต”เงินสด” ที่สามารถเอาไปทำอะไรก็ได้ ( รวมทั้งเอามาจ่ายเป็นปันผลให้ ผถห. ) ได้มากน้อยแค่ไหน…. แน่นอนว่าเราลงทุนกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เราก็ย่อมจะคาดหวังว่าบริษัทจะเป็น”เครื่องจักรผลิตเงินสด” ให้เรา ดังนั้นการวัดที่กระแสเงินสดอิสระที่บริษัทจะผลิตได้ ย่อมเป็นการวัดที่ตรงประเด็นต่อนลท.ที่สุด ( การวัดที่กำไรสุทธิอย่างเดียว อาจไม่บอกอะไรมาก เพราะธุรกิจบางประเภทอาจจะต้องลงทุนตลอดเวลา ได้กำไรมาเท่าไรก็ต้องเอากำไรไปแปลงเป็นเครื่องจักรเสียหมด ไม่เหลือ”เงินสด”ลงมาถึงผถห. )

4.กลับมาที่สมการ FCF = OCF – [ CAPEX + CWC ] ผมจะอธิบายตัวแปรในสมการแต่ละตัวอย่างละเอียด

5.เริ่มจาก Operating cash flow ( OCF ) : OCF คือกระแสเงินสดที่ไหลเข้าบริษัทจากการดำเนินงาน ซึ่งวิธีคำนวณก็ง่ายๆ นั่นคือเอากำไรสุทธิของบริษัท มาบวกคืนด้วยรายการค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด ซึ่งก็ก็คือค่าเสื่อมและค่าความนิยม ( Depreciation and Amortization ) หรือเขียนเป็นสมการจะได้เป็น : OCF = Net Profit + DA

อย่างไรก็ตาม นลท.บางท่าน อาจจะใช้ OCF = EBIT x ( 1 – T ) + DA แทน, เหตุที่ใช้ EBIT x ( 1 – T ) แทน Net Profit เพราะถือว่า Interest เป็นผลตอบแทนของเจ้าหนี้ เลยต้องนำมาบวกคืน แต่สำหรับความเห็นผม ผมเห็นว่า Interest เป็นรายจ่ายที่เป็นเงินสดจริงๆ เลยไม่ได้นำมาบวกกลับเวลาคิด FCF

DA เราสามารถหาออกมาได้จากงบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท

6.ตัวแปรตัวต่อมาที่ผมจะพูดถึงคือ Capital Expenditure ( CAPEX ) : CAPEX คือค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อซื้อสินทรัพย์มาใช้ในการดำเนินงานของบริษัท เช่น ซื้อที่ดิน ซื้อเครื่องจักรใหม่ ซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่ เป็นต้น, CAPEX ปกติจะมีด้วยกันสองส่วนคือ Investing CAPEX ( CAPEX ที่ใฃ้เพื่อซื้อสินทรัพย์ใหม่ ) และ Maintainance CAPEX ( CAPEX ที่ใช้ในการทำนุบำรุงสินทรัพย์เก่าให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ )

CAPEX เราสามารถหาได้จากงบกระแสเงินสดจากการลงทุนของบริษัท

7.ตัวแปรสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ Working Capital ( WC ) : WC ก็คือเงินที่บริษัทต้องใช้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการบริหารบริษัท เพราะในการทำการค้าบริษัทมักจะจำเป็นที่จะต้องให้ credit กับลูกค้า จึงจำเป็นจะต้องมีเงินสดจำนวนหนึ่งไว้หมุนเวียนก่อน ขณะที่ยังเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ ( อย่างไรก็ดี บริษัทก็มักจะได้ credit จาก supplier ด้วย หากเครดิตจาก supplier ยาวนานกว่า credit ที่ให้ลูกค้า บริษัทก็อาจจะแทบไม่ได้ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเลยก็ได้ )

สรุปออกมาเป็นสูตรง่ายๆว่า WC = ทรัพย์สินหมุนเวียน ( ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกหนี้การค้าของบริษัท ) – หนี้สินหมุนเวียน ( ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ที่ติด supplier ไว้ )

แต่สูตรที่เราใช้คำนวณนั้นเป็น Change in Working Capital ( CWC ) เนื่องจากเราต้องการรู้ว่าในแต่ละรอบปีที่เราจะคำนวณ FCF บริษัทจะต้องกันเงินไว้ใช้หมุนเวียน เพิ่มหรือลดลงเท่าไร

ซึ่ง CWC คำนวณได้จาก : WC ปีที่เราคิด – WC ปีก่อนหน้านั้น 1 ปี = ( ทรัพย์สินหมุนเวียนปีที่เราคิด – หนี้สินหมุนเวียนปีที่เราคิด ) – ( ทรัพย์สินหมุนเวียนปีก่อน – หนี้สินหมุนเวียนปีก่อน )

ตัวแปรที่ใช้คำนวณ CWC อันได้แก่ ทรัพย์สินหมุนเวียน และหนี้สินหมุนเวียน สามารถหาได้จากงบดุล

8.หลังจากเราหาตัวแปรต่างๆ ( อันได้แก่ OCF, CAPEX, WC ) ได้ครบ เราก็จะสามารถหา FCF ออกมาได้ ( การหา OCF, CAPEX, WC ในอนาคต จะกล่าวถึงในบทความต่อไป บทความนี้จะขอพูดแต่ concept การคิดคร่าวๆก่อน ) หลังจากนั้นเราก็เอา FCF มาบวกกันเสีย แล้วเอาหนี้มาลบออกเราก็จะได้มูลค่าของกิจการ

มูลค่าของกิจการ ( Market Cap ) = ( FCF ปีที่ 1 + FCF ปีที่ 2 + FCF ปีที่ 3 + …. + FCF ปีที่อนันต์ ) – หนี้ของบริษัท

9.การคำนวณแบบข้างบนดูเหมือนว่าน่าจะถูก แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมคิดไปก็คือว่า เงิน 100 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้า มีมูลค่าไม่เท่ากับเงิน 100 บาทในวันนี้

10. ผมจะลองยกตัวอย่างง่ายๆ ประกอบความเข้าใจ สมมติว่ามีเศรษฐีใจบุญคนนึงจะมาแจกเงินให้คุณ 100 บาท แล้วเค้าให้คุณเลือกว่า คุณจะเอาเงินตอนนี้เลยหรือ รออีกหนึ่งปีค่อยมาเอาก็ได้ แน่นอนว่าเราก็ต้องเลือกที่จะเอาตอนนี้เลย เพราะถ้าเราเลือกเอาตอนนี้แล้วเราเอาไปฝากประจำหนึ่งปี เงิน 100 จะงอกเงยเป็น 102 บาท แตกต่างจากการที่เรารออีก 1 ปี ค่อยไปเอา ที่มูลค่ามันก็ยัง 100 บาทเท่าเดิม

11.จากตัวอย่างในข้อ 10 ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่าเงิน 100 บาทในวันนี้ มีค่ามากกว่าเงิน 100 บาทที่จะได้ในอีก 1 ปีข้างหน้าแน่ๆ แต่คำถามต่อไปที่จะต้องคิดก็คือว่า แล้วเงิน 100 บาทที่จะได้ในอีก 1 ปีข้างหน้า มีค่าเท่าไรกันแน่ถ้าเทียบเป็นมูลค่าในวันนี้ ? ถ้าคิดง่ายๆว่า เราจะเอาไปฝากประจำ 1 ปี แล้วได้ดอก 2% ดังนั้นเงิน 100 บาทในอีก 1 ปีข้างหน้า จะมีค่าเท่ากับ 100 / 1.02 = 98.04 บาท ( แปลง่ายๆอีกที เงิน 100 บาทใน 1 ปีข้างหน้า มีมูลค่าเทียบเท่ากับเงิน 98.04 บาทในวันนี้ เพราะเงิน 98.04 บาทสามารถเอาไปฝากประจำ 1 ปี ได้ดอก 2% แล้วงอกเงยเป็น 100 บาทได้ [ 98.04 x 1.02 = 100 ] )

12. แล้วถามต่อว่าเงิน 100 บาที่เราจะได้ในอีก 2 ปี, 3ปี, 4ปี…. nปี ข้างหน้าจะมีมูลค่าเทียบเป็นเท่าไรในวันนี้? คำตอบก็ไม่ยาก คิดแบบฝากประจำดอกเบี้ยทบต้น 2% / yr เหมือนเดิม จะได้ว่าเงิน 100 บาทในอีก 2 ปีข้างหน้า จะมีค่าเท่ากับ 100 / ( 1.02 )^2 = 96.11 บาท เพราะเงิน 96.11 บาทสามารถเอาไปฝากประจำได้ดอก 2% /yr ( ทบต้น ) แล้วงอกเงยเป็น 100 บาทได้ [ 96.11 x 1.02 x 1.02 = 100 ] ซึ่งถ้าเราเอามาคิดเป็นปีที่ n ก็จะได้ว่าเงิน 100 บาทในปีที่ n มีมูลค่าเท่ากับ 100 / ( 1.02 )^n

13. ที่นี้ถามว่า ถ้าเรามองไปที่บริษัท บริษัทหนึ่ง เงิน 100 บาท ที่บริษัทจะผลิตได้ในอีก 1 ปี ข้างหน้าจะมีมูลค่าเท่าใดเทียบกับปัจจุบัน แน่นอนว่าเราต้อง”คิดลด” มากกว่าการแค่เอาเงินไปฝากธนาคาร เพราะการทำธุรกิจมีความเสี่ยงมากกว่าการได้ดอกเบี้ยจากธนาคารมาก ตรงนี้ถ้าจะเปรียบเทียบง่ายๆให้เห็นภาพ การซื้อหุ้นกู้ของบลจ. เค้าจะให้ดอกกับเรามากกว่าดอกของธนาคาร หรือพันธบัตรรัฐบาล ( เพราะการลงทุนให้บลจ. กู้ มีความเสี่ยงมากกว่าการให้ธนาคาร หรือรบ.กู้ )

แม้แต่หุ้นกู้ด้วยกัน บริษัทที่มีความเสี่ยงมากย่อมจะต้องเสนอดอกเบี้ยที่มากกว่าเพื่อดึงดูดให้นลท.ซื้อหุ้นกู้ของตัวเอง ผมจะยกตัวอย่างง่าย ถ้า CAWOW ออกหุ้นกู้มาดอก 7% ก็คงไม่มีใครยอมชื้อ เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่ CAWOW จะขาดทุนย่อยยับจนไม่มีเงินมาจ่ายคืนหุ้นกู้ ( CAWOW อาจจะต้องให้ดอก 20% มาล่อ ถึงจะคุ้มค่าเสี่ยง ) แต่ทำนองตรงข้าม ถ้า CPALL ออกหุ้นกู้ดอก 7% มา ก็คงมีนลท.มากมายแย่งกันไปซื้อ เพราะรู้แน่ๆ ว่า CPALL จะกำไรมากพอมาจ่ายดอกจ่ายต้นคืนให้กับเรา

14. จากตัวอย่างในข้อ 13 ผมจะใช้แนวคิดในเรื่องดอกเบี้ยของหุ้นกู้มาอธิบายเรื่องมูลค่าของเงินสดในอนาคต

สมมติเราลงทุนใน CAWOW แล้วเราคาดหวังว่าในอนาคตอีก 1 ปี CAWOW จะผลิตเงินสดให้เรา 100 บาท ถามว่าเงิน 100 บาทที่เราคาดหวังจาก CAWOW ในอีก 1 ปี ควรจะมีมูลค่าเท่าไรในปัจจุบัน คำตอบคือจะมีมูลค่าเพียง 100 / 1.2 = 83.33 บาท เพราะเงิน 83.33 บาทสามารถเอาไปซื้อหุ้นกู้ของ CAWOW ดอก 20% /yr แล้วงอกเงยเป็น 100 บาทได้ [ 83.33 x 1.20 = 100 ] และในทำนองเดียวกันเงิน 100 บาทที่เราคาดหวังว่าจะได้จาก CPALL ในอีก 1 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าในวันนี้เท่ากับ 100 / 1.07 = 93.45 บาท

15. การที่เราคำนวณว่าเงินในอีก 1, 2, 3,….. n ปี ข้างหน้าจะมีมูลค่าเทียบเท่าเป็นเงินกี่บาทในปัจจุบัน ดังที่ผมคำนวณให้ดูข้างต้น ภาษานักการเงินเค้าเรียกกันว่า “การคิดลด” และการนำกระแสเงินสดที่คาดหวังในแต่ละปี มาคิดลด แล้วก็นำมารวมกันเพื่อหามูลค่าของกิจการ เราเรียกว่า “ Discounted cash flow ( การคิดลดกระแสเงินสด ) “

16. คำถามต่อมาก็คิอ แล้วหุ้นตัวไหน เราควรจะคิดลดเท่าไร อันที่จริงการหาตัวเลขมาคิดลด มีสูตรคำนวณที่เรียกว่า WACC ( Weighted average cost of capitol ) แต่เนื่องจากผมจะพยายามนำเสนอการทำ DCF แบบง่ายๆ เลยตัดการคำนวณตรงนี้ทิ้งไป และว่ากันตามจริง ผมก็ไม่ค่อยเชื่อการคำนวณของ WACC ด้วยซ้ำ เพราะการคำนวณ WACC ต้องอาศัยค่า Beta ของหุ้น ซึ่งสมมติฐานสำคัญของการใช้ Beta ก็คือตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพตลอดเวลา ซึ่งผมเองในฐานะ Value Investor ไม่เคยเชื่อว่าตลาดจะมีประสิทธิภาพ

17.แล้วผมคิดลดอย่างไร? ผมคิดลดโดยอาศัยการดูข้อมูลเชิงคุณภาพของบริษัทเอา อย่างเช่นกรณีของ CPALL ผมอาจจะคิดลดสักแค่ 7 -8% แต่กรณีของ N-PARK ผมอาจจะใช้ที่ 12 -13% และส่วนใหญ่ผมจะคิดลดไว้หลายๆ ค่า แล้วมาดูต่อว่ามูลค่าของกิจกา ที่เราคิดโดยอาศัยการคิดลดเยอะๆ นั้น มากน้อยกว่าราคาในกระดานอย่างไร เพื่อเป็นการเผื่อ MOS ไปเลย

18. โดยสรุป เราจะได้สมการออกมาว่า

มูลค่าของกิจการ ( Market Cap ) = ( [FCF ปีที่ 1 / 1.0X] + [FCF ปีที่ 2 / 1.0X^2] +[ FCF ปีที่ 3/1.0X^3] + …. + [FCF ปีที่อนันต์ / 1.0x^อนันต์] ) – หนี้ของบริษัท

บทความหน้าผมจะพูดถึง practical point ในการหาตัวแปรต่างๆมาใส่ในสมการ รวมทั้งตัวอย่างการคำนวณสักหนึ่งตัวอย่าง

  1. pholsuwa
    February 28, 2011 at 4:11 pm

    สุดยอดเหมือนเคยนะท่าน ^^

  2. NuayZ
    February 28, 2011 at 5:03 pm

    ขอบคุณครับที่อธิบายให้เข้าใจมากขึ้น ถึงแม้สมองจะไม่ค่อยรับก็ตามที
    อยากเห็นตัวอย่างที่ชัดๆ ที่อ้างอิงในงบดุลของหุ้นไทยจริงๆ สักตัว
    น่าจะช่วยให้เข้าใจได้เยอะเลยครับ อ่านหนังสือแปล “แก่นแท้ของบัฟเฟตต์”
    ที่เอาของ Coca-Cola มาคิดก็ไม่รู้ว่าแต่เลขมาจากไหนฟ่ะ
    อ่านหนังสือ “วัดมูลค่าหุ้นด้วยตัวคุณเอง” ของคุณนรินทร์ก็ชัดขึ้นมาหน่อย
    แต่ก็เหมือนเดิมตัวเลขมาจากไหนหว่าจบต้นชนปลายไม่ถูก เหมือนจะงงๆ เหอะๆ
    รอติดตามบทความ(ต่อ)ของพี่หมอครับ (ถ้าจำไม่ผิดอ่ะนะ) ผมตามมาจากไทยวีไอ

  3. jo7393
    April 1, 2011 at 1:46 pm

    บลอกนี้มีประโยชน์จริงๆครับ ต้องเข้ามาอ่านบ่อยๆซะแล้ว
    ขอบคุณมากครับพี่

  4. Nutty
    April 26, 2011 at 2:37 pm

    ขอบคุณมากครับ ผมเคยสงสัยเรื่องการคิดลดมูลค่ากิจการมานานแล้ว พอได้อ่านแล้วทำให้เข้าใจขึ้นมากเลยครับ

  5. nut776
    May 1, 2011 at 8:02 pm

    ผมขยายความข้อ 3 เพิ่มละกัน ebit(1-t) ในข้อสาม มันหมายถึง กำไรหลังหักภาษีซึ่งกำไรส่วนนี้ ประกอบไปด้วย
    ผลตอบแทนของทั้งฝั่ง equity รวมทั้ง ฝั่ง ของเจ้าหนี้ รวมกันอยู่ในกองนี้
    แต่เพื่อทำให้โมเดล มัน conservative มากขึ้น เลยใช้ net profit เพราะ net profit คือกำไรสุดท้ายที่ตัดจากส่วนที่จ่ายดอกเบี้ย คืนเจ้าหนี้แล้ว
    บนสมมติฐานของคุณ reiter ว่า ยังไงมันก็เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายจริง จึงควรหักออก จากกำไรจริงๆ

    (จริงๆมันน่าจะมีสาเหตุที่ไม่ใช่ net profit แทน กำไรหลังหักภาษีนะ ไว้ถ้าผมอ่านเจอว่าคุณ ih เคยพูดไว้หรือเปล่าจะมาโพสต์เพิ่มให้ละกัน ถ้าแกเคยพูดนะ)

    • poo
      February 19, 2013 at 3:19 pm

      ขออนุญาติเสนอครับ ถ้าเราคิด FCFE( Free cash flow to equity ) คือเรามองพวกหุ้นราคาหุ้นเราจะใช้ NI หรือ DIV ครับเพราะเรามองเพียงกระแสเงินจริงๆที่เหลือออกมาที่อาจเอามาจ่ายปันผลหรือเป็นกำไรสะสม ตัวที่นำมาคิดลดสำหรับ FCFE หรือการใช้ CF เป็น NI,DIV นั้นใช้ CAPM ครับซึ่งตัวนี้จะเอาค่า Beta เข้ามาเกี่ยวข้องเนื่องจาก มองเรื่องของ Premium ของตลาดและ Beta ของหุ้นที่เราคิดเทียบกับตลาดมาเกี่ยวด้วย ตัวนี้ถึงใช้ CAPM สูตรคือ Rj=Rf+B(Rm-Rf) : ส่วนถ้า FCFF ( Free cash flow to firm ) เราจะใช้ตัว EBIT(1-T) ครับเนื่องจากเรามองในมุมของบริษัท เราจะสนใจกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี เพราะสองตัวนี้บริษัทสามารถตกแต่ง บ/ช ได้ ตัวที่นำมาคิดลดสำหรับ FCFF คือ WACC ครับสูตรคือ (1-T)Rd*D/V+Re*E/V ครับ

  6. nut776
    May 1, 2011 at 8:03 pm

    nut776 :
    ผมขยายความข้อ ถ เพิ่มละกัน ebit(1-t) ในข้อห้า มันหมายถึง กำไรหลังหักภาษีซึ่งกำไรส่วนนี้ ประกอบไปด้วย
    ผลตอบแทนของทั้งฝั่ง equity รวมทั้ง ฝั่ง ของเจ้าหนี้ รวมกันอยู่ในกองนี้
    แต่เพื่อทำให้โมเดล มัน conservative มากขึ้น เลยใช้ net profit เพราะ net profit คือกำไรสุดท้ายที่ตัดจากส่วนที่จ่ายดอกเบี้ย คืนเจ้าหนี้แล้ว
    บนสมมติฐานของคุณ reiter ว่า ยังไงมันก็เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายจริง จึงควรหักออก จากกำไรจริงๆ
    (จริงๆมันน่าจะมีสาเหตุที่ไม่ใช่ net profit แทน กำไรหลังหักภาษีนะ ไว้ถ้าผมอ่านเจอว่าคุณ ih เคยพูดไว้หรือเปล่าจะมาโพสต์เพิ่มให้ละกัน ถ้าแกเคยพูดนะ)

    ตาลายจัด ขอโทษคับ ไล่อ่านแบบละเอียดมาหลายชม.

  7. nut776
    May 1, 2011 at 8:10 pm

    การใช้ net profit แทน กำไรหลังหัก ภาษี
    โดยที่ไม่ต้องลบ รายได้อื่นๆ

    การใช้ิ สินทรัพย์หมุนเวียน แทนการใช้ operating asset

    การใช้ หนี้สิน หมุนเวียน แทนการใช้ หนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย ในข้อ 7

    หมายถึง การ made easy ใช่ไหมคับ

    แล้วเอาเข้าจริงมันมีผล ในการคำนวณ ต่างกันมากไหมคับ ผมก็ไม่ได้คำนวณเทียบกันซะด้วย
    รบกวน ถาม น้องแป๊ะ นิดนึง version made easy กับ version เต็ม ม้นได้ค่าต่างกันมากน้อยแค่ไหน
    อันไห conservative กว่ากันคับ

  8. monsoon
    May 5, 2011 at 9:27 am

    อ่านมาหลายเล่ม หลายสำนัก เพิ่งเก๊ตจากของคุณ reiter นี่เอง เพราะอธิบายได้ละเอียด ลำดับภาพชัดเจน
    โดยเฉพาะบอกที่มาที่ไป ความเป้นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันของแต่ละตัวแปร

    ขอบคุณมากมาย และขออนุญาติมาอ่านเอาความรู้เพิ่มเติมเรื่อยๆครับ 🙂

  9. kakathi
    May 20, 2011 at 4:59 am

    อ่านแล้วเข้าใจ DCF ดีขึ้นครับ ยกตัวอย่างได้ชัดเจนดี ขอบคุณมากครับ (_/\_)

  10. ปอ
    July 1, 2011 at 5:52 am

    ไม่ทราบว่าบทต่อไปออกยังครับ

    • July 12, 2011 at 3:34 am

      ออกแล้วครับ ถัดไปเลย 🙂

  11. pat
    July 13, 2011 at 8:41 am

    ขอบคุณมากหาตั้งนานเพิ่งเจอคุณหมออธิบายได้ชัดเจนเข้าใจง่ายสำหรับคนเรียนมาน้อย Thank you so much

  12. wheel
    July 16, 2011 at 9:34 am

    อ่านแล้วได้ความรู้ พอเข้าใจแล้วครับว่า Finance มีประโยชน์มากเรย

    รออ่าน ภาค 2 นะครับ 🙂

  13. August 30, 2011 at 5:09 am

    สอบถามหน่อยนะคะ

    ใครพอรู้วิธีปรับ Net PPE (Net Property, Plant And Equipment) ให้เป็น Capital Expenditure ( CAPEX ) บ้างคะ ต้องทำอย่างไรคะ?

    แล้ว CAPEX ต้องทำให้เป็น Chang in CapEx ด้วยไหมคะ?

  14. October 17, 2011 at 5:33 pm

    เพิ่งมาอ่านเจอ อธิบายได้ง่ายดี เข้าใจเรื่อง DCF มากขึ้นเลยครับ อ่านของพี่สุมาอี้แล้วยังค่อนข้างงงบางอย่างอยู่เหมือนกัน

  15. Nithi
    September 3, 2012 at 4:11 am

    how to calculate Changes in Working Capital (CWC) kub? Thank you

    Can we get that in the Cash Flow Statement

  16. suchart subdee
    September 18, 2012 at 7:08 am

    อยากสอบถามคุณหมอปฐมพรว่า

    1.เห็น capex ที่ ผบห ให้ข่าวว่าปี 2554 (2011) จะลงทุน 1600 ผมสังเกตูดูไม่ตรงกับตารางที่ได้จาก opp day 1060…ไม่ทราบว่าตัวเลขไหนที่จะมาใช้ในสูตรครับ

    2.ตัวเลข capex ปี 2010, 2011, 2012 จาก opp day คือ 1520, 1060, 250 แต่ในตาราง excel ไม่ตรงกัน เป็นการปัดเป็นตัวเลขกลมๆใช่ไหมครับ

    3.หนี้สินของบริษัทประมาณ2,700 ที่ใช้หามูลค่ากิจการหายังไงครับผมดูจากงบปี53มันไม่ตรงอ่ะครับ

  17. June 25, 2015 at 7:07 pm

    ตามหา วิธี ทำ DCF แล้ว มา เจอ web นี้
    ขอบคุณ มาก ครับ

  1. No trackbacks yet.

Leave a comment